xs
xsm
sm
md
lg

สวนสัตว์สงขลาเพาะขยายพันธุ์ “กบทูด” สำเร็จแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สวนสัตว์สงขลา ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ “กบทูด” ซึ่งเป็นกบขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เพื่อเตรียมไว้ให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ก่อนที่จะสูญหายไปจากประเทศไทย

นายสัตวแพทย์ภูวดล สุวรรณะ นักบริหาร 7 หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์วิจัยและสุขภาพสัตว์น้ำ สวนสัตว์สงขลา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้สนับสนุนโครงการวิจัยการศึกษาชีววิทยาเพื่อพัฒนาการเพาะขยายพันธุ์กบทูด ในพื้นที่ของสวนสัตว์สงขลา เพื่อเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาชีววิทยา นิเวศวิทยา การเพาะขยายพันธุ์ การแพร่กระจาย ผลของการใช้และบุกรุกพื้นที่ของกบทูดในพื้นที่ธรรมชาติของสวนสัตว์สงขลา ศึกษาชีววิทยาการสืบพันธุ์ของกบทูดในสภาพการเพาะเลี้ยง เพื่ออนุรักษ์พื้นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของกบทูดและสร้างแหล่งศึกษา และเรียนรู้ธรรมชาติวิทยาในสวนสัตว์สงขลา โดยใช้ระยะเวลาในการวิจัย 2 ปี คือ 2556-2557

ทั้งนี้ สวนสัตว์สงขลาได้นำพ่อแม่พันธุ์กบทูดจำนวน 14 ตัว ซึ่งอยู่ตามธรรมชาติในสวนสัตว์สงขลามาทำการเพาะเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ และจำลองธรรมชาติให้เป็นธารน้ำไหลที่มีความสะอาดเพื่อให้กบสามารถวางไข่ได้ และในขณะนี้ กบทูดได้ทำการวางไข่แล้ว โดยทางสวนสัตว์สงขลาได้นำไข่ไปทำการเพาะฟักเป็นเวลา 9 วัน หลังจากนั้นก็ฟักออกมาเป็นลูกอ๊อด และวิวัฒนาการตัวเองมาเป็นลูกกบจากที่อยู่ในน้ำขึ้นมาอยู่บนบกริมตลิ่ง ลูกกบทูดจากการเพาะพันธุ์ของสวนสัตว์สงขลาขณะนี้มีอายุ 48 วัน มีจำนวน 250 ตัว ยังคงอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของนายสัตวแพทย์ภูวดล สุวรรณะ และทีมงานวิจัย เพื่อจะทำการเลี้ยงให้โตจนสามารถนำมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ และจะได้ทำการแพร่ขยายพันธุ์กบทูด ซึ่งเป็นกบขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยไม่ให้สูญพันธุ์

นายสัตวแพทย์ภูวดล กล่าวเพิ่มเติมว่า กบทูด หรือกบภูเขา หรือเขียดแลว (อังกฤษ : Kuhl's creek frog, Giant asian river frog; ชื่อวิทยาศาสตร์: Limnonectes blythii) เป็นกบขนาดใหญ่ที่สุดในที่พบได้ในประเทศไทย ความยาวจากปลายปากถึงก้นประมาณ 1 ฟุต น้ำหนักกว่า 5 กิโลกรัม มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณป่าต้นน้ำบนภูเขาสูง อยู่ตามลำห้วยป่าดิบเฉพาะแห่ง โดยพบภาคตะวันตกของไทยตั้งแต่ภาคเหนือจดภาคใต้ไปจนถึงมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เช่น ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา, อุทยานแห่งชาติเขาสก เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ยังพบได้ในกัมพูชา ลาว และเวียดนาม

สำหรับฤดูผสมพันธุ์ของกบทูด อยู่ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม กบทูดจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 แต่จัดเป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ ปัจจุบัน กบทูดเป็นสัตว์ที่หายากชนิดหนึ่งในประเทศไทย อันเนื่องจากสภาพแวดล้อม และถิ่นที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไป จึงมีการส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ โดยสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดแม่ฮ่องสอน สามารถเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจได้แล้วในขณะนี้





 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น