คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส
มีคำถามจากเวทีสมัชชาปฏิรูปว่า การจัดเวทีแต่ละครั้งมักใช้งบประมาณจำนวนมาก มีผู้คนเข้าร่วมจำนวนมาก ปัญหาที่นำเสนอก็มากหลากหลายเนื้อหา ทั้งปัญหาเฉพาะพื้นที่ ปัญหาในระดับโครงสร้าง เสมือนเชิญชวนกันมาปรับทุกข์กันปีละครั้ง ทุกข์ของปีที่แล้วที่นำมาบอกกล่าวกันก็ยังคงเดิม ทุกข์ใหม่ๆ ปัญหาใหม่ๆ ก็ถาโถมประดังกันเข้ามาอีกเป็นระลอกคลื่น ทำให้เกิดความรู้สึก เกิดคำถามว่า ถ้าเราคาดหวังการเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดจากการลุกขึ้นสู้มากกว่าการนั่งประชุมนั้น ในท่ามกลางปัญหาที่หลากหลายของสังคม การลุกขึ้นสู้ที่เป็นไปได้จริง มีรูปธรรมรองรับนั้นควรจะเป็นอย่างไร
รูปธรรมของการขับเคลื่อนทางสังคมเกิดจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคม กลุ่มผลประโยชน์ที่มีศักยภาพมักเกาะกลุ่มจัดตั้งกันเป็นปึกแผ่นแน่นหนา สร้างอำนาจต่อรองให้แก่กลุ่มของตัวเอง ผลักดันให้รัฐ หรือกลไกรัฐตอบสนองผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเองได้อย่างเป็นรูปธรรม อาศัยช่องทางของกฎหมาย หรือผลักดันให้มีกฎหมายขึ้นมารองรับกลุ่มก้อนของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สูงสุดคือ การจัดตั้งเข้ายึดอำนาจรัฐและใช้อำนาจรัฐ ผลประโยชน์ของรัฐให้ตอบสนองกลุ่มก้อนของตัวเอง เหมือนพรรคการเมืองต่างๆ อันเป็นที่รวมของนักธุรกิจกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่รวมตัวกันได้ และกำลังยึดครองประเทศอยู่ในเวลานี้ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
พรรคการเมืองในประเทศนี้ไม่ได้เป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชนส่วนใหญ่ และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ยังไม่สามารถสร้างพรรคการเมืองของตัวเองขึ้นมาได้ โอกาสที่จะเข้าไปยึดอำนาจรัฐตามวิถีทางประชาธิปไตยในปัจจุบัน เพื่อสร้างนโยบายให้สามารถตอบสนอง หรือแก้ไขปัญหาของคนส่วนใหญ่จึงเป็นไปไม่ได้ คำขวัญของเวทีสมัชชาปฏิรูปที่บอกว่า “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม” จึงเป็นเพียงคำขวัญหรูๆ ที่ยากจะผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริงในเวทีการพบปะประชุมกันเพียงปีละครั้ง ผมมีข้อเสนอสำหรับเวทีปฏิรูปไป 4 ประเด็นที่อยากนำมาแลกเปลี่ยนที่นี่อีกครั้งก็คือ
1.การสร้างพลังพลเมืองเพื่อลุกขึ้นปฏิรูปประเทศจากระดับฐานล่าง ทุกสาขาอาชีพของประชาชนที่เป็นเกษตรกร เช่น ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ชาวประมง ที่อาศัยฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการประกอบอาชีพ จะต้องเร่งจัดตั้งตัวเองให้มีองค์กรของตัวเองที่เข้มแข็ง มีการบริหารจัดการตัวเองให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงในขบวนการภายในของแต่ละองค์กร เช่น ระบบสมาชิก การร่วมสร้างกฎกติกาขององค์กรที่ปฏิบัติได้ มีระบบบริหารจัดการที่โปร่งใสที่สมาชิกสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา มีการสะสมทุน ระดมทุนภายใน และมีกติกาการนำทุนออกไปสนับสนุนกิจกรรมที่สอดคล้องกับความมั่นคงขององค์กรซึ่งก็คือความยั่งยืนของแต่ละสาขาอาชีพ รวมถึงผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการต่างๆ ก็ควรเร่งรัดการจัดตั้งองค์กรของตัวเอง โดยอาศัยสิทธิในการจัดตั้งตามกรอบที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ให้
2.สร้างรูปธรรมของการอยู่รอด และศักยภาพในการพึ่งตัวเองในมิติต่างๆ องค์กรประชาชนที่ไม่มีกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมเพื่อสะท้อนการอยู่รอดของตัวเอง หรือสร้างแนวทางการเดินไปข้างหน้าได้อย่างมีรูปธรรมรองรับ จะไม่สามารถต่อยอดทางความคิด และเติบโตอย่างมีชีวิตชีวาได้ บทเรียน หรือต้นทุนขององค์กรภาคประชาชนมีให้เห็นมากมาย ไม่ว่าการลุกกันขึ้นมาจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อปลดหนี้สินนอกระบบ การสร้างสวัสดิการจากผลประกอบการให้แก่สมาชิก การนำเงินสะสมรวมหมู่ปล่อยกู้ให้แก่สมาชิกได้เริ่มต้นในทิศทางของการพึ่งตัวเอง มีให้เห็นอยู่ทั่วไป รวมไปถึงกิจกรรมที่หนุนเสริมการประกอบอาชีพ เช่น การสร้างป่าชุมชน การปลูกป่า การทำธนาคารปู ฯลฯ ล้วนเป็นปัจจัยสร้างพลังปฏิรูปจากฐานของชุมชนที่ยากต่อการทำลายของระบบเลวร้ายจากภายนอกชุมชนได้ในระดับหนึ่ง ชุมชนไหนที่ยังไร้การจัดตั้งมักตกเป็นเบี้ยล่างของกระแสพัฒนาจากภายนอกที่ไม่สัมพันธ์กับความต้องการภายในของชุมชนเสมอๆ
3.สร้างองค์ความรู้สนับสนุนการขับเคลื่อนตามมติของสมัชชา การขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตามมติของสมัชชาในแต่ละเนื้อหา ล้วนมีอุปสรรค เพราะจะไปกระทบกับกลุ่มผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ดั้งเดิม การขับเคลื่อนในปัญหาเรื่องที่ดินทำกินย่อมไปขัดกับกลุ่มผู้ถือครองที่ดินจำนวนมากๆ ย่อมต้องอาศัยกลุ่มคนที่มีความรู้เฉพาะเรื่อง มีนักวิชาการที่สรุปรวบรวมสภาพข้อเท็จจริงของปัญหา ต้องการสื่อมวลชนที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปเข้ามารับไม้ขยายผล การอาศัยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ ช่องทางในการสื่อสาร/ยื่นเรื่องเพื่อ “หาตัวช่วย” จากองค์กรอิสระต่างๆ ดังกล่าว จะต้องได้กระจายสู่การรับรู้ให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะมากได้
4.การเข้าร่วมกับกิจกรรมทางการเมืองที่แก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับมติของสมัชชา พลังการปฏิรูปของสังคมที่มีปัญหาซับซ้อน และหลากหลายเนื้อหา และเกี่ยวข้องกับประชาชนในสังคมหลายหมู่เหล่าหลากหลายอาชีพ การเคลื่อนไหวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้บรรลุผลตามแต่ละเนื้อหาของมติสมัชชาย่อมเป็นไปได้ยากและขาดพลัง ดังนั้น อีกข้อเสนอหนึ่งซึ่งเป็นข้อเสนอสุดท้ายของผมก็คือว่า เมื่อมีการเคลื่อนไหวของสาขาอาชีพที่มีเนื้อหาที่สะท้อนการแก้ไขปัญหาดังที่ออกมาเป็นมติของสมัชชา สมาชิก หรือองค์กรของสมัชชาไม่ควรที่จะลังเลในการเข้าร่วมขับเคลื่อนและหนุนเสริมการเคลื่อนไหวของกลุ่มปัญหานั้นๆ อย่างจริงจัง
สังคมไทยได้พัฒนามาถึงจุดของการตื่นรู้ของผู้คนในสังคมอย่างกว้างขวาง อันเป็นพัฒนาการที่สอดรับกันในหลายๆ ด้าน สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ หรือปัญหาที่หมักหมมจากปัญหาทางโครงสร้าง ถูกนำมาตีแผ่ขยายผลอย่างกว้างขวาง ระบบการศึกษา การเติบโตของการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ความฉับไวของการถ่ายเทข้อมูลในแต่ละเหตุการณ์ แต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากจุดใดจุดหนึ่งในสังคม สามารถขยายการรับรู้ของผู้คนเพียงกะพริบตา แต่จุดอ่อนอยู่ที่กลุ่มประชาชนไร้การจัดตั้งตัวเอง การเข้าร่วมเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงมักขาดเนื้อหาของกลุ่มของตัวเอง การเปลี่ยนแปลงที่ลงทุนลงแรงที่ผ่านมาจึงเกิดขึ้นเสมือนเตะหมูเข้าปากหมาจึงยังคงวนเวียนซ้ำซาก