ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - จังหวัดสงขลา เร่งติดตามความก้าวหน้าโครงการจัดการทรัพยากรน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง พื้นที่ 4 อำเภอ กว่า 2 แสนไร่ รวม 222 โครงการ งบประมาณ 1,900 ล้านบาท ผลการดำเนินงานคืบหน้า แต่พบปัญหาหน่วยงานทำงานซ้ำซ้อน ขาดการบูรณาการ
วันนี้ (3 มิ.ย.) ที่ห้องประชุม CEO ศาลากลางจังหวัดสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เรียกประชุมคณะทำงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ เพื่อเร่งรัดติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ ประกอบด้วย 4 อำเภอ คือ อำเภอระโนด กระแสสินธุ์ สทิงพระ และ อ.สิงหนคร ดำเนินการระหว่างปี 2555-2557 พื้นที่ดำเนินการกว่า 2 แสนไร่ รวม 222 โครงการ งบประมาณ 1,900 ล้านบาท โดยมีหน่วยงานผู้รับผิดชอบแผนงานโครงการ ได้แก่ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำระโนด-กระแสสินธุ์ สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 8 ศูนย์พัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 4 อำเภอระโนด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรค การดำเนินแผนงานโครงการ
นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นการบริหารจัดการน้ำ 3 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำที่ไม่มีประโยชน์ ซึ่งได้แก่ คู คลอง แหล่งน้ำที่ประชาชนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ให้กลับมาใช้ประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนทั้ง 4 อำเภอ ของคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งขณะนี้โครงการต่างๆ ได้ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะโครงการขุดลอกคลองพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งมีระยะทางรวม 57 กิโลเมตร ขณะนี้ดำเนินการขุดลอกลุล่วงไปมาก แต่มีบางช่วงของคลองที่ยังขาดงบประมาณในการดำเนินการ คือ ช่วง กม. 45+550 ถึง กม. 54+950 ระยะทาง 9.4 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ในพื้นที่อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร
ขณะนี้จังหวัดขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากภาคเอกชน คือ บริษัทที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับธุรกิจน้ำมันในพื้นที่จังหวัดสงขลา จำนวน 10 บริษัท ซึ่งทั้งหมดได้ตอบรับให้การสนับสนุนงบประมาณแล้ว รวมเป็นเงิน 5,510,400 บาท ซึ่งเพียงพอที่จะสามารถดำเนินการขุดลอกคลองในพื้นที่ดังกล่าว
ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัญหาสำคัญของการดำเนินโครงการตามแผนบริหารจัดการทัพยากรน้ำในพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ คือ มีหลายหน่วยงานเข้าไปดำเนินการในลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่ได้ยึดแผนแม่บทการพัฒนาคาบสมุทรสทิงพระ จึงทำให้ผลการดำเนินงานยังไม่บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บท และไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนบนคาบสมุทรสทิงพระได้อย่างแท้จริง จังหวัดสงขลา จึงได้ขอให้หน่วยงานต่างๆ ที่จะดำเนินการตามแผนงานโครงการในปีต่อไป ได้ประชุมปรับแผนเพื่อให้เกิดการบูรณาการดำเนินแผนงานโครงการร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของแผนงานโครงการ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนคาบสมุทรสทิงพระ