xs
xsm
sm
md
lg

แอมเนสตี้ฯ เผยไฟใต้คร่าชีวิตเด็กไปแล้ว 62 ราย ร้องรัฐเหลียวแลชีวิตที่เหลือเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการ องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ร่วมเสวนา “ผลกระทบต่อเด็กและผู้หญิงจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” เผยตั้งแต่ปี 2547 มีเด็กเสียชีวิตจากเหตุความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว 62 คน บาดเจ็บ 359 คน และมีปัญหาเรื้อรังทั้งเรื่องสภาพจิตใจ และการดำรงชีวิต

วันนี้ (31 พ.ค.) ที่ห้องสมคิด ชั้น 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมกับ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ แถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2556 โดย นางปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้สรุปภาพรวมสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ก่อนที่จะมีการเสวนากันในเรื่อง “ผลกระทบต่อเด็กและผู้หญิงจากเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมี นางอัญชนา หีมมีหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ, นายไพรี เชยชม รองผู้อำนวยการโรงเรียนสตรียะลา, นางรอมือละห์ แซเยะ ภรรยาผู้ต้องหาคดีความมั่นคง, นายนวพล ลินิน อดีตผู้ประสานงานโครงการกัมปงซือแน ร่วมเวทีเสนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็น

นางปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ความขัดแย้งกันด้วยอาวุธในประเทศไทย พลเรือนยังคงตกเป็นเป้าโจมตี ส่งผลให้มีการบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี ยะลา และบางส่วนของสงขลา ครูและโรงเรียนรัฐได้ตกเป็นเป้าหมายการโจมตี เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ของรัฐ ส่งผลให้มีการปิดโรงเรียนหลายครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง ผู้นำการก่อความไม่สงบกล่าวหาฝ่ายความมั่นคงว่า ได้ทำการสังหารนอกระบบการกฎหมายในยะลา การลอยนวลพ้นผิดยังเกิดขึ้นต่อไปสำหรับการละเมิดสิทธิส่วนใหญ่ที่เป็นการกระทำของฝ่ายความมั่นคงในภาคใต้

นางอัญชนา หีมมีหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า ผลกระทบต่อเด็กโดยตรงจากความขัดแย้ง คือ การเสียชีวิต เด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้จากปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีเด็กเสียชีวิตแล้ว 62 ราย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี และจำนวน 359 คน ที่ได้รับบาดเจ็บ และเผชิญกับความทุกข์ยากจากการบาดเจ็บ นอกจากนี้ ยังมีเด็กพิการจากความรุนแรงหลายๆ คนไม่สามารถเข้าถึงบริการการรักษาได้ ทั้งที่ต้องสูญเสียแขนขา ดวงตา บางรายต้องใช้ชีวิตด้วยเครื่องช่วยหายใจ

นอกจากนี้ ยังมีความเจ็บปวดทางด้านจิตใจ เด็กที่อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย และหวาดกลัวในระหว่างความขัดแย้งที่รุนแรง นำไปสู่อัตราการเกิดภาวะซึมเศร้า และภาวะวิตกกังวลที่สูง ผลกระทบนี้อาจจะใช้เวลายาวนานที่จะแสดงอาการออกมา และเด็กๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เผชิญกับปัญหาความสูญเสียที่ส่งผลให้กลายเป็นเด็กกำพร้า และอาจถูกชักจูงไปในการเลือกใช้ความรุนแรงต่อไป ต่อเนื่องไปจนถึงเรื่องความรู้สึกผิดชอบชั่วดี และผลกระทบทางด้านอารมณ์ ความเลวร้าย การปองร้ายอาจจะเป็นสาเหตุให้เด็กมีความยากลำบาก และสูญเสียความหมายในการมีชีวิต พวกเขาอาจจะเปลี่ยนแปลงมุมมองทางจริยธรรม เช่น การโกหก การขโมย และการมีเพศสัมพันธ์เพื่อมีชีวิตรอด เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางจริยธรรมเรื่องความรุนแรง การฆ่า หรือการฝึกให้ฆ่า

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ในเรื่องการขัดแย้งกันด้วยอาวุธในจังหวัดชายแดนใต้ คือ

1.ดำเนินการสอบสวนโดยทันทีอย่างมีประสิทธิภาพ และอย่างไม่ลำเอียงกรณีการสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทุกกรณี โดยเฉพาะในส่วนที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงมีส่วนเกี่ยวข้อง และให้นำตัวผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมที่ได้มาตรฐานสากลของความเป็นธรรม ไม่ให้สั่งลงโทษประหารชีวิต

2.ยุติการสนับสนุน และการให้เงินอุดหนุนการจัดซื้ออาวุธขนาดเล็ก และให้เข้มงวดต่อการบังคับใช้ระเบียบที่เกี่ยวกับการครอบครองอาวุธ

3.ให้มีการแก้ไขเนื้อหาของกฎอัยการศึกอย่างกว้างขวาง หรือให้ยกเลิกไป

4.ในการนำมาตรการฉุกเฉินมาใช้นั้น ให้ใช้ตามหลักกฎหมาย และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้แก้ไขข้อบัญญัติใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย และมาตรฐานดังกล่าว รวมทั้งการแก้ไขมาตรา 17 ที่มีข้อยกเว้นไม่ให้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อเจ้าพนักงานในสภาพการณ์ทั่วไป

5.ให้ยุติการ “ขึ้นบัญชีดำ” ผู้ต้องสงสัยอย่างไม่เป็นทางการ

6.ประกันว่าผู้ที่ถูกคุกคามตัวตามสถานที่ต่างๆ และตามค่ายทหารสามารถเข้าถึงทนาย ญาติพี่น้อง และได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม และมีการอนุญาตให้หน่วยงานสิทธิมนุษยชนที่เป็นอิสระเข้าเยี่ยมสถานควบคุมตัวทุกแห่ง

7.ให้ดำเนินการโดนทันทีเพื่อปิดศูนย์ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งยังต้องมีการสอบสวนโดยทันที และอย่างเป้นกลางเมื่อมีรายงานว่าศูนย์ควบคุมตัวเหล่านี้อยู่ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยความมั่นคง และให้แก้ไขเนื้อหาของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้มีข้อห้ามอย่างชัดเจนต่อการใช้สถานควบคุมอย่างไม่เป็นทางการ

8.ให้หาทางสืบหา และแจ้งให้ทราบถึงที่อยู่ของทนายสมชาย นีละไพจิต และบุคคลอื่นที่ถูกบังคับให้สูญหาย เพื่อประกันว่าจะมีการนำตัวผู้ที่รับผิดชอบต่อการสูญหายมาลงโทษ

9.ให้สัตยาบันรับรองต่ออนุสัญญาสากลว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย และดำเนินการที่จำเป็นเพื่อบังคับใช้อนุสัญญาในระดับประเทศโดยทันทีหลังมีการให้สตยาบัน
นางอัญชนา หีมมีหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น