ตรัง - กลุ่มอนุรักษ์ป่า ต.ละมอ อ.นาโยง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า นำกำลังเข้าตรวจยึดไม้พะยูงจำนวนหลายสิบท่อน กลางป่าชุมชนบ้านหูโตน (เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา) ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกันอนุรักษ์เอาไว้ โดยนายทุนได้ว่าจ้างให้เข้ามาลักลอบตัดไม้พะยูนที่ล้มลง เพื่อแปรรูปเตรียมขนส่งไปขายยังต่างประเทศ
เมื่อเวลา 12.30 น. วันนี้ (29 พ.ค.) นายสมศักดิ์ เพชรสังข์ หัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า หน่วยที่ 3 บ้านน้ำราบ ต.ละมอ อ.นาโยง พร้อม นายสันติชัย เพ็งจิตร์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 ต.ละมอ และคณะกรรมการอนุรักษ์ป่าไม้พะยูงกว่า 10 นาย เข้าตรวจยึดไม้พะยูง อายุประมาณ 40 ปี ที่มีการแปรรูปตัดเป็นท่อนๆ ขนาดความยาว 60 ซม. วัดรอบวง 110-120 ซม. รวมจำนวน 9 ท่อน มูลค่าเกือบ 100,000 บาท ที่ขบวนการมอดไม้เข้าไปลักลอบตัดบนป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในเขตความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ม.1 บ้านหูโตน ต.ละมอ อ.นาโยง เพื่อนำไปอายัดเก็บรักษาไว้ที่อุทยานฯ ก่อนจะเดินทางเข้าแจ้งความที่ สภ.นาโยง ให้ดำเนินคดีต่อขบวนการมอดไม้ดังกล่าว
โดยจากการตรวจสอบพบว่า เป็นต้นพะยูงที่ล้มลงมาเองนานกว่า 2 ปี ขนาด 2 คนโอบ ยาว 30 เมตร จำนวน 1 ต้น ซึ่งขบวนการมอดไม้ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 4-5 คน ได้ใช้เครื่องเลื่อยโซ่ยนต์ขนาดเล็กทำการตัดเป็นท่อนๆ ก่อนจะกลิ้งท่อนไม้ลงจากบนภูเขาที่มีความสูงชันประมาณ 60 องศา แล้วนำไม้มาซุกซ่อนอยู่ในพงหญ้าข้างล่าง ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่แปรรูปประมาณ 700 เมตร เพื่อรอนำรถพ่วงขนย้ายออกจากพื้นที่ แต่ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่และชาวบ้านสืบทราบ และเข้าตรวจยึดเสียก่อน ขบวนการมอดไม้ จึงทิ้งไม้แล้วหลบหนีไปได้ ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่พอจะทราบเบาะแสบ้างแล้ว เป็นคนนอกพื้นที่ที่รับออเดอร์มาตัดไม้จากนายทุน แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะเกรงว่าจะไหวตัวหลบหนีไปได้
นายสันติชัย เพ็งจิตร์ ผู้ใหญ่บ้าน ม.1 ต.ละมอ อ.นาโยง กล่าวว่า สำหรับไม้พะยูงในป่าชุมชนบ้านหูโตน (เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา) นั้น ได้มีหน่วยงานราชการและชาวบ้าน ร่วมกันปลูกขึ้นเมื่อปี 2515 ที่ผ่านมา โดยจากการสำรวจล่าสุด มีต้นพะยูงเหลืออยู่ประมาณ 120 ต้น ถือเป็นแปลงอนุรักษ์ป่าพะยูงที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ โดยในจำนวนนี้มีต้นที่ขนาดใหญ่ที่สุด อายุ 45 ปี ขนาดเส้นรอบวงประมาณ 300 ซม. อยู่จำนวน 1 ต้น ซึ่งชาวบ้านได้ร่วมกับ อบต.ละมอ นิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีบวชป่าแล้วถึง 2 ครั้ง เพื่อป้องกันการลักลอบตัดไม้ของกลุ่มนายทุนทั้งใน และนอกพื้นที่ เนื่องจากปัจจุบันการซื้อขายไม้พะยูงในท้องถิ่นมีราคาสูงถึงต้นละ 200,000 บาท ทำให้ชาวบ้านต้องหามาตรการป้องกันการจัดเวรยามกันเฝ้าระวัง และออกตรวจป่าพะยูงแห่งนี้สัปดาห์ละ 2 ครั้ง