7 นักกิจกรรมจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เยือนชายแดนใต้ หวังเชื่อมความเข้าใจสังคม วัฒนธรรม และกระบวนการสันติภาพปาตานีสู่อาเซียน สะท้อนเรื่องราวซึ่งยังไม่เป็นที่รับรู้มากนักในโลกมลายูด้วยกันเอง พร้อมหนุนเป็นเครือข่ายเพื่อสื่อสารแทนคนปาตานี
เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา นักกิจกรรมจากประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากองค์กรนักศึกษาอินโดนีเซีย Pengarus Besar Pelajar Islam Indonesia (PII) Persatuan Kebangsaan Pelajar Islam Malaysia (PKPIM) และ Grup Pengkaji Tamadun Dunuia (GPTD) Unisel Malaysia ทั้งหมด 7 คน พร้อมด้วยนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี เดินทางเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือปาตานี ซึ่งมีกำหนดอยู่ในพื้นที่ 7 วัน
Izwan Suhaidak Ishak จากองค์กร Grup Pengkaji Tamadun Dunuia (GPTD) Unisel Malaysia ซึ่งเป็นผู้นำการเดินทางในครั้งนี้ เปิดเผยว่า การมาเยือนปาตานีเป็นครั้งที่ 2 ของเขา ซึ่งได้ลงสัมผัสชุมชนชาวประมงบ้านดาโต๊ะ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี และมีโปรแกรมสอนภาษามลายู และภาษาอังกฤษให้เด็กในชุมชนดังกล่าวด้วย การมาในครั้งนี้เพื่อมารู้จักสังคมวัฒนธรรมของมลายูปาตานีว่าเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา ไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องราวของที่นี่มากนัก ทั้งๆ ที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านกัน
“เรื่องราวปาตานีไม่ค่อยได้รับรู้มากนัก แต่เริ่มมีการพูดถึงเรื่องราวของที่นี่มากขึ้น จึงได้ตัดสินใจมาเยือน เพื่อมาดูว่าจะช่วยอะไรเพื่อการสื่อสารเรื่องราวของที่นี่ได้บ้าง อีกอย่างต้องมองถึงอาเซียนกำลังจะมา ภาษามลายูจะเป็นภาษาที่สื่อสารกันระหว่างภูมิภาคนี้ ถ้าทาง Deep South Watch (DSW) อยากให้ช่วยเผยแพร่เรื่องราวปาตานีเป็นภาษามลายูก็สามารถบอกได้เลย” Izwan กล่าว
Izwan กล่าวอธิบายว่า ทางทีมสนใจข่าวภาษามลายูของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี ที่สื่อสารด้วยภาษามลายู แต่เป็นตัวเขียนยาวี ซึ่งตนอยากนำไปเผยแพร่ต่อเช่นกัน และยังมีข้อเสนอความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกันในอนาคต อาจจะมีโครงการร่วมแลกเปลี่ยนนักกิจกรรมระหว่างกัน ในประเด็นการสื่อสารเรื่องราวทางสังคม และวัฒนธรรมมลายูระหว่างประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และปาตานี ของประเทศไทย ผ่านการเดินทางของพวกเขา และอาจจะเปิดพื้นที่สื่อสาร และติดตามกระบวนการสันติภาพ ผ่านเว็บไซต์ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และเว็บไซต์ของพวกเขาที่ประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซียได้
อารีด้า สาเม๊าะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)