xs
xsm
sm
md
lg

ชาวพังงาปลื้ม “ในหลวง” รับป่าเทือกเขากะทะคว่ำเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พังงา - ชาวพังงาปลื้มในหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการปกป้องดูแลอนุรักษ์ “ป่าเทือกเขากะทะคว่ำ” ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่ออนุรักษ์แหล่งน้ำของชาวบ้าน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (23 พ.ค. ) นายอุดม สิงหการ ผู้ให้บ้านหมู่ 7 ต.นบปริง อ.เมือง จ.พังงา เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีหนังสือสำคัญจากราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง ที่ รล 0008.5/11857 เรื่อง ขอให้ทรงรับป่าเทือกเขากะทะคว่ำไว้เป็นป่าในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่งถึงมายังตนเองในฐานะผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 สืบเนื่องมาจากตนเอง และชาวบ้านหมู่ 7 ได้ทำหนังสือยื่นถวายฎีกาขอความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2555 ขอพระราชทานพระกรุณาให้ทรงรับป่าเทือกเขากะทะคว่ำไว้เป็นป่าในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำ และแหล่งน้ำของราษฎรตำบลนบปริง ตำบลทุ่งคาโงก และตำบลสองแพรก อ.เมืองพังงา จ.พังงา

โดยเนื้อหาสำคัญในหนังสือที่ทางสำนักราชเลขา พระบรมมหาราชวัง ส่งมายังตนส่วนหนึ่งระบุว่า ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาแล้ว เห็นสมควรช่วยเหลือโดยจัดทำโครงการปกป้องดูแลอนุรักษ์ป่าเทือกเขากะทะคว่ำ ซึ่งมีพื้นที่กว้าง มีการแบ่งเขตความรับผิดชอบดูแลเป็น 3 ส่วน คือ เขตอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนปริวรรต และเขตป่าสงวนแห่งชาติ สภาพพื้นที่ป่าเป็นป่าดิบชื้นมีความสมบูรณ์ด้านนิเวศวิทยา เป็นแหล่งกำเนิดของพันธุ์ไม้นานาชนิด เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ทั้งเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของลุ่มน้ำพังงา การดำเนินการอนุรักษ์ป่าเทือกเขากะทะคว่ำจะเป็นประโยชน์แก่ราษฎรในพื้นที่ 3 ตำบล ซึ่งความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการปกป้องดูแลอนุรักษ์ป่าเทือกเขากะทะคว่ำ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ลงชื่อ นายจรัลธาดา กรรณสูต ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ ปฏิบัติราชการแทนราชเลขาธิการ

นายอุดม สิงหการ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 เปิดเผยต่อว่า ทั้งตนเอง และชาวบ้านที่ได้อ่านข้อความในหนังสือรู้สึกปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่พวกเราร่วมกันต่อสู้ในการปกป้องอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ป่าเทือกเขากะทะคว่ำมานับ 10 ปี ไม่เสียเปล่า เพราะต้องเสี่ยงชีวิตกับพวกที่ลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเพื่อต้องการยึดครองที่ดิน ที่ผ่ามาได้ทำทุกวิถีเพื่อยับยั้งการบุกรุก เช่น จัดกิจกรรมเข้าค่ายเยาวชนอนุรักษ์ป่า ปลูกต้นไม้ในวันสำคัญ บวชป่า และนำพระพุทธรูป “พระโพธิธรรมพิทักษ์ป่า” น้ำหนักประมาณ 150 กิโลกรัม ไปประดิษฐานไว้กลางป่าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ ที่สำคัญชาวบ้านได้เล็งเห็นถึงความเสียหายจากการเกิดภัยพิบัติของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม หรือภัยแล้งที่ผ่านมากระทบต่อชาวบ้านโดยตรงตลอด และระบบนิเวศในพื้นที่ป่า ทั้งสัตว์ป่า พันธุ์ไม้หายาก นับวันใกล้จะสูญพันธุ์หมดแล้ว จากพระกรุณาในครั้งนี้เชื่อว่าป่าเทือกเขากะทะคว่ำจะกลับมาเป็นป่าที่สมบูรณ์อีกครั้งในอนาคต
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น