ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชุมชนบ้านโกตา อ.ละงู จ.สตูล จัดรวมพลประกาศชนกระทรวงศึกษาที่จะยุบโรงเรียนของชุมชน สวนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่เสนอหน้าผลักดันไปก่อนแล้ว
นายประยูร สงขาว โต๊ะอิหม่ามมัสยิดบ้านโกตา อ.ละงู จ.สตูล เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงพลังคัดค้านการยุบโรงเรียนบ้านโกตา โดยมีผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ผู้ปกครอง และนักเรียนมาร่วมพูดคุย และที่ประชุมมีมติคัดค้านการยุบโรงเรียนที่สร้างมา 48 ปี ซึ่งที่ดินก่อสร้างโรงเรียนได้รับบริจาคจากนายอุหมาก หลีเคราะห์ โดยใช้แรงงานคนในชุมชนมาช่วยกันก่อสร้างโรงเรียน และทำการจัดการเรียนการสอนมาถึงปัจจุบัน
“ผลจากการจัดการศึกษาของโรงเรียนมีคุณภาพ สร้างคนที่มีคุณภาพให้แก่ชุมชนมาแล้วจำนวนมาก ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบันก็เป็นศิษย์เก่า การประกาศยุบโรงเรียนของกระทรวง และเขตพื้นที่ฯ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า โรงเรียนชุมชนโกตาพร้อมที่จะยุบโรงเรียน ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ชุมชนมีมติในวันนี้ว่าคัดค้าน”
โต๊ะอิหม่ามประยูร กล่าวว่า ชุมชนได้ประกาศจุดยืนร่วมกันแล้ว โดยทุกคนออกมาจากบ้านมาที่โรงเรียนตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อต้องการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า เราจะไม่ยินยอมยุบไปรวมกับโรงเรียนอื่น ให้มั่นใจว่าเรามีจุดยืนหนักแน่นที่จะช่วยแสดงพลัง แสดงความคิดเห็น โรงเรียนของเราเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ การกระทำของกระทรวงศึกษา และของเขตพื้นที่ฯ คิดแล้วแค้นในอก เราจะไม่ท้อถอย หากยังมีนโยบายยุบโรงเรียนเราแสดงพลังอย่างนี้อีก
“เราเป็นโรงเรียนแรกในจังหวัดสตูลที่ลุกขึ้นมาคัดค้านข่าวการยุบโรงเรียน เราต้องพูดเสียงดัง เราต้องสู้ด้วยความคิด อุดมการณ์ จิตวิญญาณว่า โรงเรียนของเราไม่ได้ด้อย ผลสัมฤทธิ์ระดับอำเภออยู่อันดับ 2 และอันดับ 8 ระดับจังหวัด แล้วจะยุบได้อย่างไร ผมยืนยันว่าโรงเรียนของเรามีศักยภาพเพียงพอ เราไม่ได้ด้อยกว่าโรงเรียนอื่น ถ้าถูกยุบ ถือว่าเป็นโศกนาฏกรรมแน่นอน”
ด้านนายวิรัช โอมณี ผู้ใหญ่บ้านโกตา กล่าวเสริมว่า เมื่อได้รับทราบข่าวจากทางสื่อแล้วน้ำตาไหล แต่ยังดีใจที่พี่น้องในชุมชนออกมาแสดงพลังกันจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า พลังของชาวชุมชนโกตาไม่ได้ยินยอมให้ยุบโรงเรียน เหมือนที่ทางเขตพื้นที่ได้ให้สัมภาษณ์
“การยุบโรงเรียนเป็นเหมือนการเปลี่ยนวิถีของชุมชน โดยมีคนจำนวนหนึ่งจะเอาสมบัติชิ้นนี้ออกไปนอกพื้นที่ เอาเด็กเราไปอยู่กับเขา เมื่อวันก่อนผมเห็นภาพโรงเรียนบ้านปากปิง เอาเด็กขึ้นรถ แล้วก็เอามาปล่อย เห็นเด็กๆ ร้องไห้ ไม่ต้องการไปเรียนโรงเรียนไกลบ้าน ผมเศร้าใจ”
นายวิรัช กล่าวต่อว่า เมื่อช่วงเย็นของวานนี้ ตนได้สอบถามเด็กนักเรียนที่หน้าโรงเรียนว่า ยอมให้เขายุบโรงเรียนเราหรือเปล่า เด็กๆ ตอบว่าไม่ ยินยอมให้ยุบโรงเรียนเดิม ไม่ต้องการไปเรียนที่อื่น ในนามของรุ่นพี่ และในนามของศิษย์เก่าคนหนึ่ง ตนฟังเด็กๆ พูดแล้วน้ำตาไหล เพราะตั้งแต่เกิดมาตนผูกพันกับโรงเรียนนี้ที่เป็นเหมือนท่าน้ำที่รอเรือเข้าเทียบท่า รุ่นแล้วรุ่นเล่าที่มาท่าเรา ดังนั้น เขาจะพังจะยุบเขาต้องมาถามชาวบ้านก่อน
“ชุมชนเป็นเจ้าของโรงเรียน ตั้งแต่ก่อสร้างโรงเรียนขึ้นมา เริ่มจากที่ดินว่างเปล่า ก่อเสามุงหลังคาสังกะสีขึ้นมา ซึ่งมันสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือของคนในชุมชนตั้งแต่เริ่มก่อสร้างมาถึงปัจจุบัน ดังนั้น โรงเรียนเราต้องมีครู โรงเรียนเราต้องอยู่ในชุมชนต่อไป”
ขณะที่นายสมพงษ์ หลีเคราะห์ ศิษย์เก่าอีกคนหนึ่งกล่าวว่า ถ้าเราอยู่เฉย ทางกระทรวงก็จะเดินหน้ายุบโรงเรียนของเรา ดังนั้น เราต้องการแสดงพลังให้เห็นว่า เราไม่เห็นด้วยกับนโยบายยุบโรงเรียนของเรา ปัญหาที่เขาอ้างว่าโรงเรียนขาดคุณภาพ พอสืบไปสืบมาโรงเรียนบ้านโกตามีคุณภาพอยู่ที่อันดับ 2 ของอำเภอ และอยู่ที่อันดับ 8 ของจังหวัด มีคำถามว่าเหตุผลหรือปัญหาการยุบเรียนโกตาอยู่ตรงไหน