ศูนย์ข่าวภูเก็ต - แสนสิริ ร่วมกับ จังหวัดภูเก็ต จุดประกายความร่วมมือทุกภาคส่วน สนับสนุนเสียงของเด็กในโครงการ GIVE สร้างเครือข่ายคณะทำงานเยาวชนทำงานจริงในระดับจังหวัด ที่ได้สะท้อนปัญหาที่อยากแก้ และอยากทำในภูเก็ต 5 ประเด็นหลัก ทั้งขยะล้นเมือง ความอบอุ่นในครอบครัว เต่าทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ เด็กนำทาง และเสียงของเด็ก ที่ต้องการให้ผู้ใหญ่ และหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (9 พ.ค.) นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันแถลงข่าวความสำเร็จโครงการ GIVE โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้นำท้องถิ่น เด็กและเยาวชนในภูเก็ต เข้าร่วม ณ โรงแรม พูลแมน ภูเก็ต อาคาเดีย หาดในทอน ต.สาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
โครงการ GIVE ได้เริ่มเมื่อปีที่ผ่านมา “Social Change” กิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาดำเนินการในจังหวัดภูเก็ต โดยได้คัดเลือกตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 30 คน อายุระหว่าง 13-25 ปี (จากจำนวนผู้สมัคร 435 คน) เข้ารับการอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เพื่อพัฒนาศักยภาพความคิด ปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์จังหวัด ความเข้าใจปัญหาในจังหวัด และการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยการอบรมเน้นเรื่องการมองปัญหาจากภาพใหญ่ การลงพื้นที่ศึกษาปัญหากับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ่ายทอดปัญหาผ่านสารคดี และการคิดโครงการอย่างยั่งยืน เพื่อนำเสนอมุมมองในหลากหลายประเด็นสังคมที่ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน
ทั้งนี้ เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกจากการอบรม จะได้รับการแต่งตั้งเป็น “คณะทำงานเยาวชนของผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต” ซึ่งถือเป็นการจุดประกายมิติใหม่ ในการสนับสนุนเยาวชนภูเก็ตเข้าร่วมทำงานจริงจังกับภาคจังหวัดครั้งแรกในประเทศไทย โดยวันนี้ ทีมเยาวชนจะมีการนำเสนอ 5 ประเด็นสังคมใน “เวทีสมัชชาเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต” ได้แก่ 1) ความอบอุ่นในครอบครัว 2) อนุรักษ์เต่าทะเล 3) เยาวชนนำทาง 4) ขยะในภูเก็ต และ 5) เสียงของเด็ก
ประเด็นความอบอุ่นในครอบครัว มองเรื่องการให้เวลาอยู่ร่วมกันในครอบครัวอย่างเพียงพอ จึงนำเสนอแนวคิด Give time Give you Give me Give family สร้างสังคมแห่งการใช้เวลาอยู่ร่วมกัน โดยขอพื้นที่ร่วมกับจังหวัดจัดกิจกรรม Family Day Event เชิญ 50 ครอบครัว สร้าง 1 ชุมชนต้นแบบที่ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้เวลาอยู่ร่วมกัน, สร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันวันอาทิตย์ และร่วมกับกองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครภูเก็ต ในการสร้างเครื่องมือในการสำรวจปัญหาข้อมูล เพื่อนำข้อมูลต้นแบบไปพัฒนาโครงการที่ตรงจุด โดยสร้างชุมชนตัวอย่างก่อน
ประเด็นเยาวชนนำทาง มองเรื่องการอำนวยความสะดวกให้คำแนะนำนักท่องเที่ยว เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก การที่เยาวชนมีน้ำใจอาสาเข้ามาช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในด้านต่างๆ นั้น จะเป็นภาพที่สร้างความประทับใจไปทั่วโลก อยากจะให้มีการรับสมัครสมาชิกเยาวชนในภูเก็ต เปิดศูนย์อบรมเยาวชนนำทาง โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาให้ความรู้ เช่น การอบรมภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร, อบรมเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวในภูเก็ต และข้อมูลทั่วไปที่จำเป็นสำหรับนักท่องเที่ยว เพื่อใช้ประกอบการสนทนา รวมไปถึงการแนะนำ โซนเสี่ยง เพื่อเตือนนักท่องเที่ยวให้ระวังเป็นพิเศษ, เยาวชนจะใช้เวลาว่างอาสาสมัครร่วมกับการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตทำงาน ณ จุดบริการนักท่องเที่ยวในย่านต่างๆ สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวเพื่อให้กลับมาที่ภูเก็ตอีก
ประเด็นเสียงของเด็ก มองเรื่อง เสียงของเด็ก และความคิดเห็นของเยาวชนมีความสำคัญไม่แพ้เสียงของผู้ใหญ่ การไม่สื่อสารกันของผู้ใหญ่-เยาวชน หรือความแตกต่างมุมมองทางความคิดของเยาวชนและผู้ใหญ่ ยุคสมัย เทคโนโลยี เป็นประเด็นทำให้ช่องว่างระหว่างวัยมากขึ้น เยาวชนน่าจะได้มีโอกาสสื่อสารนำเสนอประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นๆ กับผู้ใหญ่ จึงนำเสนอการจัดเวทีที่รวบรวมความเห็นของเยาวชนจากทั่วจังหวัด โดยจะมีตัวแทนจากแต่ละสถานศึกษา เช่น ประธานนักเรียน ที่จะรวบรวมความคิดเห็นของนักเรียนในสถานศึกษาของตน มานำเสนอในที่ประชุมใหญ่ โดยขอการสนับสนุนจากโรงเรียน และผู้นำชุมชนในการตั้งแบบแผนให้ความคิดเห็นเหล่านี้ได้ถูกนำไปพัฒนา และใช้จริงในระดับจังหวัด
ประเด็นขยะในภูเก็ต มองเรื่องจำนวนประชากร และนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ขยะมากตามตัว เผาไม่หมด ต้องนำไปฝังที่เกาะผี ระบบการแยกขยะและการจัดการยังไม่ทั่วถึง ผลกระทบหลักๆที่เกิดขึ้น คือ การส่งกลิ่นของขยะในชุมชน ทำให้คนในชุมชนเสียสุขภาพ และสุขภาพจิต จึงนำเสนอแนวความคิด “ขยะเริ่มต้นที่มือเรา จบที่มือเรา” โครงการเยาวชนใจสะอาด ปลุกจิตสำนึกในโรงเรียนเป็นตัวอย่าง ขอความร่วมมือจากเทศบาลไปอบรมการแยกขยะในสถานศึกษา และรณรงค์ให้ริเริ่ม “ธนาคารขยะรีไซเคิล” ในตัวโรงเรียน
ประเด็นอนุรักษ์เต่าทะเล มองเรื่องจำนวนเต่าทะเลมีจำนวนลดน้อยลงเนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น การลักลอบเก็บไข่เต่าทะเล, เต่าทะเลติดเครื่องมือของชาวประมง, สภาพแวดล้อมชายฝั่งเสื่อมโทรม จึงนำเสนอแนวความคิด “รู้เห็นเป็นใจ” อาสาเสนอตัวเป็นทีมช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มอนุรักษ์เต่าทะเลในพื้นที่ซึ่งมีลุงวินัยเป็นผู้นำ, จัดอีเวนต์และนิทรรศการรณรงค์ โดยเชิญชวนชาวประมง นักท่องเที่ยว นักธุรกิจ ชาวบ้านในพื้นที่ มาร่วมเพื่อหาเงินสนับสนุน โดยมีกิจกรรมดนตรี งานศิลปะวาดภาพบาติก เป็นต้น
ด้านนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาคจังหวัด และภาคเอกชนที่สนับสนุน พัฒนาเยาวชนกลุ่มนี้เป็นเยาวชนต้นแบบ เพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนคุณภาพต่อไป ที่จะนำไปสู่การสร้างสังคมที่ดีในอนาคต และถือวาระนี้เป็นวาระอันดีในการเปิดสมัชชาเด็กและเยาวชนในภาคบ่าย และขอแสดงความยินดีกับกลุ่มเยาวชนที่ได้รับคัดเลือก แต่งตั้งเป็นคณะทำงานเยาวชนของจังหวัด ซึ่งจะได้ทำงานจริงร่วมกับภาครัฐ และผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดได้ให้นโยบาย “3 ส” เพื่อเป็นแนวทางการทำงานของคณะทำงานเยาวชน ประกอบด้วย “สารเสพติด การเสี่ยงการเพศ และสิ่งแวดล้อม”
ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนี้ถือเป็นการจุดประกายให้สังคม เห็นถึงพลังสร้างสรรค์ของเยาวชน ที่มีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง โดยการมีส่วนร่วมทำงานเพื่อสังคม เพื่อจังหวัดที่ตนเองได้เติบโตมา และโครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับโอกาสในการทำงานภาคปฎิบัติ กับทางภาคจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำกิจกรรมเพื่อสังคมของแสนสิริ ที่มีความเชื่อว่า “เรื่องของเด็กเป็นเรื่องของทุกคน” ที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ และเอกชน แสนสิริจะยังคงทำงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุน พัฒนาเยาวชนกลุ่มนี้ให้ได้สร้างเครือข่ายเยาวชนคุณภาพในจังหวัดต่อไป