xs
xsm
sm
md
lg

ที่ปรึกษา รมว.กระทรวงอุตสาหกรรมลงปัตตานี เร่งรัดการจัดตั้งนิคม “ฮาลาล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัตตานี - ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ จ.ปัตตานี เร่งรัดการจัดตั้งเขตนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ (9 พ.ค.) ที่โรงแรมปาร์ควิว รีสอร์ท อ.เมือง จ.ปัตตานี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พร้อมด้วยนายประมุข ลมุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายวิทยา พานิชพงษ์ รองเลขาเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายสุเทพ คลี่ขจาย ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะฯ ผู้แทนนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือเร่งสนับสนุนการสร้างผลิตภัณฑ์ สร้างโอกาส สร้างคุณภาพชีวิต และสร้างความเข้มแข็งให้แก่คนในชุมชน

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวภายหลังการประชุมว่า นิคมอุตสาหกรรมฮาลาลในพื้นที่ ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี เป็นความหวังของประชาชนในการพัฒนาศักยภาพของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คำว่า “ฮาลาล” ถือได้ว่าเป็นคำพูดทางศาสนา หมายถึง การเริ่มต้นด้วยความบริสุทธิ์และเป็นธรรม ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเร่งดำเนินการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเพื่อสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

สิ่งสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมฮาลาลประสบความสำเร็จ จุดแข็งคือ เน้นความต้องการ และความภาคภูมิใจของประชาชนในพื้นที่ เน้นให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากที่สุด และมีความคิดเห็นตรงกันว่า เรื่องของฮาลาลต้องขึ้นกับองค์กรทางศาสนาด้วย ในการพิจารณาว่าสินค้า หรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะได้รับมาตรฐานฮาลาลหรือไม่นั้นต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานหลัก ซึ่งผ่านระบบการรับรองของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด อาหารฮาลาลจึงเป็นเรื่องของความร่วมมือ และผลประโยชน์ร่วมกันของ 3 ฝ่ายคือ มุสลิมผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และประเทศชาติ

ประการที่หนึ่ง มุสลิมได้บริโภคอาหารฮาลาลที่เชื่อว่าถูกต้องตามบัญญัติศาสนาอิสลาม มีคุณค่าอาหาร ถูกสุขอนามัย ปลอดภัยจากสิ่งต้องห้ามทางศาสนาอิสลาม (ฮารอม) และสิ่งปนเปื้อนต่างๆ

ประการที่สอง ผู้ประกอบการได้รับผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยตระหนักถึงการผลิตอาหารฮาลาลที่ถูกต้องตามบัญญัติศาสนาอิสลาม และปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการรับรองฮาลาลอย่างเคร่งครัด ตลอดจนบริหารคุณภาพอาหารตามมาตรฐานฮาลาล

และประการที่สาม ประเทศชาติได้รับผลประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลให้การส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างครบวงจร ทั้งในด้านการพัฒนาวัตถุดิบ ปัจจัยการผลิตของผู้ประกอบการการตลาด และการปรับปรุงกลไกการรับรอง “มาตรฐานอาหารฮาลาล” ขององค์กรศาสนาอิสลาม เพื่อส่งออกอาหารฮาลาลสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ ยังต้องมีหลักการทางวิทยาศาสตร์รับรอง ซึ่งเห็นควรต้องมีศูนย์วิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับอุตสาหกรรมฮาลาลด้วย

ในการร่วมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ ถือเป็นทางออก และความหวังของทั้งผู้ประกอบการ และชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งหากนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งนี้สำเร็จขึ้นในอนาคต จะกลายเป็นสถานที่ที่จะสร้างศักยภาพ โอกาส และความภาคภูมิใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น