ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นักท่องเที่ยวจำนวนมากตื่นเต้น ยืนมุงดูวาฬหัวทุยแคระขนาดใหญ่เกยตื้นชายหาดป่าตอง พบบาดแผลบริเวณหัวด้านหน้า และครีบด้านหลัง เจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ เร่งฉีดยาฆ่าเชื้อพร้อมนำกลับสู่ทะเล ส่วนสาเหตุคาดเกิดจากอาการป่วย
เมื่อเวลา 08.30 น. วันนี้ (1 พ.ค.) เจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า มีวาฬเข้ามาเกยตื้นที่บริเวณชายหาดป่าตอง ตรงด้านหลังป้อมตำรวจหน้าซอยบางลา อำเภอกะทู้ จ.ภูเก็ต หลังรับแจ้ง ทางสัตวแพทย์ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักประมงจังหวัดภูเก็ต จึงนำทีมลงพื้นที่ตรวจสอบ
ที่เกิดเหตุบริเวณชายหาดป่าตอง พบชาวบ้าน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำนวนมากกำลังยืนมุงดูวาฬขนาดใหญ่เกยตื้นด้วยท่าทีที่ตื่นเต้น ขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ ได้ลงตรวจสอบพบวาฬตัวดังกล่าว มีร่องรอยบาดแผลที่บริเวณหัวด้านหน้า และครีบด้านหลัง พร้อมกับแผลเริ่มเปื่อย ทางเจ้าหน้าที่จึงนำยาปฏิชีวนะ และยาบำรุงฉีดเพื่อป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ ก่อนที่จะช่วยกันนำวาฬขึ้นเปล จากนั้นจึงประคอง แล้วนำไปปล่อยผลักดันให้ออกสู่ทะเลตรงบริเวณปากอ่าวป่าตอง
อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่และสัตว์แพทย์ ยังคงเฝ้าติดตามอยู่ที่บริเวณชายหาดดังกล่าวอีกสักระยะ เนื่องจากหากพบว่าวาฬตัวดังกล่าวว่ายกลับเข้าฝั่งก็จะนำขึ้นไปรักษาที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนต่อไป
จากการสอบถาม นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คาดว่า วาฬตัวดังกล่าวเป็นวาฬหัวทุยแคระ มีความยาวประมาณ 2.40 เมตร น้ำหนักไม่น้อยกว่า 150 กิโลกรัม ยังไม่สามารถระบุเพศได้ ส่วนสาเหตุเบื้องต้นสันนิษฐานว่า วาฬน่าจะมีอาการป่วย เพราะในขณะที่พบเห็นวาฬตัวนี้จะลอยอยู่เหนือผิวน้ำ ซึ่งผิดปกติจากนิสัยของวาฬทั่วไปที่จะว่ายอยู่ในน้ำไม่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ ประกอบกับบาดแผลที่เกิดขึ้นนั้น น่าจะมาจากการแหวกว่ายไปกระแทกกับโขดหิน อย่างไรก็ตาม ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังตรงจุดเกิดเหตุอีกสักระยะ เนื่องจากชายหาดป่าตองเป็นแหล่งที่มีกิจกรรมของนักท่องเที่ยวมากมาย หากวาฬดังกล่าวลอยมาแถวนี้อาจก่อให้เกิดความเครียดแก่วาฬได้
“ปกติมักจะพบวาฬหัวทุยแคระในทะเลลึก บริเวณไหล่ทวีป มีเฉพาะฝั่งทะเลอันดามัน และกินปลาหมึกเป็นอาหาร ส่วนวาฬชนิดนี้วัยโตเต็มที่มีขนาดอยู่ประมาณ 2.70 เมตร น้ำหนักประมาณ 400 กิโลกรัม โดยในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา พบเป็นตัวที่ 7 แบ่งเป็นจังหวัดภูเก็ต 4 ตัว พังงา 1 ตัว สตูลอีก 2 ตัว หลังจากนี้ หากพบวาฬตังกล่าวได้สั่งให้เจ้าหน้าที่นำกลับขึ้นมารักษาที่ศูนย์ฯ ก่อนที่จะส่งกลับทะเลต่อไป” นายก้องเกียรติกล่าว