พังงา - เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ภูเก็ต เข้าเก็บตัวอย่าง DNA จากซากวาฬหัวทุย ไปตรวจหาสาเหตุการตาย เบื้องต้น คาดว่าอาจจะเกิดจากการติดเชื้อทางธรรมชาติ
เมื่อเวลา 13.00 น.วันนี้ (22 ส.ค.) ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ภูเก็ต กล่าวว่า วาฬที่ขึ้นมาเกยตื้นตายบริเวณชายหาดบางสัก หมูที่ 8 ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นวาฬชนิดหัวทุย มีความยาวประมาณ 10 เมตร น้ำหนัก 5-6 ตัน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะทำการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ เพื่อนำตัวอย่างไปเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่มีอยู่ พร้อมทั้งนำอวัยวะภายในบางส่วน เช่น ตับ ไข่มัน ไปศึกษาปริมาณโลหะหนัก และฟันไปศึกษา ส่วนกะโหลกก็จะผ่าออกไปเก็บไว้ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเล และป่าชายเลนภูเก็ต ส่วนเนื้อของปลาวาฬที่พบจะทำการขุดหลุมฝังไว้ที่ชายหาด
โดยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าปลาวาฬชนิดหัวทุยตายเป็นตัวที่ 7 ส่วนมากปลาวาฬชนิดนี้จะอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตกในทะเลน้ำลึก ของ จ.พังงา และ จ.ภูเก็ต เป็นสัตว์ชนิดชอบกินปลาหมึกเป็นอาหาร จะอาศัยในไหล่ทวีปเป็นหลักเข้ามาอยู่ในบริเวณชายฝั่งในช่วงที่มาออกลูกแรกเกิด ที่ทางสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ภูเก็ต เคยเก็บไว้ได้ โดยในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา พบซากวาฬชนิดหัวทุย และปลาโลมาขึ้นมาเกยตื้นประมาณ 20-30 ตัวต่อปี ส่วนใหญ่สาเหตุที่พบวาฬ และโลมาตายประมาณ 80% เกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ การป่วยด้วยโรคตามธรรมชาติ ที่เหลือก็จะตายด้วยเครื่องมือประมง และปัญหาขยะตามชายหาด