xs
xsm
sm
md
lg

คำพูดของ “ฮัสซัน ตอยิบ” และถ้อยแถลงของสตาฟ BRN / นิมุ มะกาเจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ฮัสซัน ตอยิบ ผู้แทนเจรจาของกลุ่ม Barisan Revolusi Nasional (BRN)
หากได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการเจรจาที่ประเทศมาเลเซียในวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ระหว่างคณะของ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร กับคณะของ นายฮาซัน ตอยิบ ล่าสุด มีคลิปคำพูดของนายฮัสซัน ตอยิบ และถ้อยแถลงของนายอับดุลการิม คอเหล็บ สตาฟ ของบีอาร์เอ็น ดังนี้

1.คำพูดของฮัสซัน ตอยิบ

การประกาศประชาสัมพันธ์ในนามประชาชาติชาวปัตตานี (แถลงการณ์) ครั้งนี้ จะกล่าวถึงเป้าประสงค์ของ BRN เพื่อความเป็นเอกภาพของชนชาติมลายูปัตตานี บนฐานของการยอมรับในประชาสังคม (ประชาคม) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อชาวปัตตานี

เพื่อความเป็นเอกภาพในคนสัญชาติ (ชนชาติ) ชาวปัตตานี และเป็นประชาชาติที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นการปลดปล่อยจากการถูกกดขี่ หรือมีความเป็นเอกราช หลังจากนั้นเราสามารถบริหารจัดการในทุกๆ ด้าน หรือปกครองบนฐานของความยุติธรรมให้มากที่สุด

สุดท้ายนี้ เราขอให้ชาวปัตตานี และทุกชาติพันธุ์ที่อยู่บนแผ่นดินปัตตานีไม่ว่าจะเป็นชาวสยาม หรือชาวจีนไม่ต้องกังวล หรือหวาดระแวงในความยุติธรรมที่จะได้รับ ที่กลุ่ม BRN ทำไปก็เพื่อต่อต่อสู้หาความยุติธรรม และความสงบสุข เป็นประชาชาติที่ดีและได้รับการอภัยจากอัลลอฮฺ

2.ถ้อยแถลงของนายอับดุลการิม คอเหล็บ สตาฟ BRN กล่าว 2 ช่วง ดังนี้

2.1 ช่วงแรก กล่าวว่า

ถ้าเราจะกล่าวถึงความวุ่นวายที่ปัตตานี เราจะต้องศึกษาประวัติศาสตร์ปัตตานี หลังจากสยามเข้ามาปกครองเมื่อปี 1785 ได้มีการกระทำการข่มเหง (ทารุณกรรม) กดขี่ต่อชาวปัตตานี จึงทำให้เกิดกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านเพื่อความเป็นอิสระ หรือเอกราช และให้หลุดพ้นจากการถูกข่มเหง (ทารุณกรรม) และกดขี่จากรัฐสยามไปสู่ความสงบสุข

2.2 ช่วงหลัง กล่าวว่า

หลังจากเจรจาเมื่อ 28 ก.พ. 2556 ได้ขอความยุติธรรมแก่ชาวปัตตานีให้ลดการข่มเหง (ทารุณกรรม) การกดขี่ต่อชาวปัตตานี

ข้อแถลงการณ์เสนอเงื่อนไข 5 ข้อ ก่อนจะมีการสนทนาระหว่างผู้ปกครองชาวสยาม และกลุ่ม BRN ในวันที่ 29 เม.ย. ที่จะถึงโดยมีใจความ ดังนี้

1.ผู้ปกครองชาวสยามจะต้องยอมรับบทบาทของรัฐบาลมาเลเซียในฐานะ “ตัวกลาง” การสนทนา

2.การสนทนาที่จะเกิดขึ้นจะจำกัดวงเฉพาะตัวแทนชาวมลายู ซึ่งนำโดยกลุ่ม BRN ร่วมกับคณะผู้ปกครองชาวสยาม

3.จะต้องอนุญาตให้กลุ่มผู้สังเกตการณ์จากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน องค์การความร่วมมือแห่งศาสนาอิสลาม (โอไอซี) และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ (เอ็นจีโอ) เข้าร่วมในการสนทนาด้วย

4.ผู้ปกครองชาวสยามจะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาอย่างไม่มีเงื่อนไข และจะต้องระงับการออกหมายจับผู้ต้องสงสัย

5.จะต้องยอมรับสถานะของกลุ่มบีอาร์เอ็น ในฐานะองค์กรเพื่อการปลดปล่อยปัตตานีมิใช่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน

พร้อมกันนี้ อย่าได้วิตกกังวลใจต่อกระบวนการยุติธรรมครั้งนี้ และแนวทางการต่อสู้ของบีอาร์เอ็นจะนำไปสู่ความยุติธรรม ความสงบสุข ตลอดจนเพื่อนำไปสู่การสถาปนารัฐที่ดีที่ได้รับการโปรดปรานจากพระเจ้า

วิเคราะห์คำพูดของนายฮัสซัน ตอยิบ กับถ้อยแถลงของนายอับดุลการิม คอเหล็บ พบว่า

จุดยืนคือ การเป็นอิสระของการบริหารการปกครองชาวปัตตานีที่เป็นชนชาติ หรือชาติพันธุ์ดั้งเดิมคือ ชาวมลายู

การเสนอ 5 ประการนั้น เป็นแนวเสนอที่จะมีในวันที่ 29 เม.ย. ข้อ 1 ข้อ 3 คงผ่าน ข้อ 4 ข้อ 5 ให้ได้หรือไม่? และที่น่าพิจารณาคือ ข้อ 2 ที่ระบุว่า “การสนทนาที่จะเกิดขึ้นจะจำกัดวงเฉพาะตัวแทนชาวมลายู ซึ่งนำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็น” คือผู้ใด สามารถเปิดเผยตัวได้หรือไม่? และตรงกับบุคคล หรือกลุ่มบุคคล (ชาวบ้าน) ที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร ให้ไปร่วมหรือไม่?

นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา
28 เม.ย.2556
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น