สุราษฎร์ธานี - มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ระดมสมองจัดแผนเตรียมความพร้อม “เอบีซีโปรแกรม” รองรับการเปิดประชาคมอาเซียนให้แก่นักศึกษา อาจารย์ บุคลากร และประชาชนทั่วไป
วันนี้ (29 เม.ย.) ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558 ว่า มรส.ได้จัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษาและพัฒนาขึ้น แล้วทำงานภายใต้กรอบ “เอบีซีโปรแกรม” (ABC Program) ซึ่งกรอบดังกล่าวมีแผนในการปฏิบัติตั้งแต่ปี 2556-2558 โดยในปีนี้จะเริ่มต้นใช้แผน A: Awareness คือ สร้างความตระหนักรู้ต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแก่นักศึกษา อาจารย์ บุคลากร และประชาชนทั่วไป ชี้นำให้สังคมเห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบต่อวิถีชีวิต สังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม จากนั้นในปี 2557 จะดำเนินการตามแผน B: Booster คือ กำหนดให้เป็นปีแห่งการปฏิบัติเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น สร้างความร่วมมือทางวิชาการ แลกเปลี่ยนนักศึกษาอาจารย์ และสร้างสรรค์งานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในอาเซียน จัดสัมมนาทางวิชาการระดับนานาชาติ เป็นต้น
สำหรับในปี 2558 ที่จะถึงในอีกไม่นานนี้ ซึ่งเป็นปีที่เข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น จะใช้แผน C: Corporation and Competitiveness คือ สร้างความร่วมมือและการแข่งขัน โดยมหาวิทยาลัยจะมีหลักสูตร และรายวิชาที่เกี่ยวเนื่องและสอดคล้องกับอาเซียน ทั้งที่สอนเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ เปิดรับนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น ในขณะเดียวกัน นักศึกษา มรส.ก็จะมีโอกาสสร้างชื่อในระดับภูมิภาคมากขึ้น ความร่วมมือทางวิชาการก็จะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนอาจารย์ หรือการเชิญวิทยากรจากต่างประเทศมาบรรยาย
ด้าน ดร.คมกฤต โอวรารินทร์ ผอ.โครงการจัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษาและพัฒนา มรส. กล่าวว่า ในส่วนของแผน A นั้นขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดอบรมภาษาอังกฤษให้แก่นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากร การเปิดหลักสูตรระยะสั้นเพื่อสอนภาษาในกลุ่มอาเซียน เช่น ภาษาพม่า ภาษาบาฮาซามลายู นอกจากนี้ ยังมีการจัดนิทรรศการอาเซียน และเสวนาอาเซียนเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป รวมทั้งการสร้างทีมนักศึกษาเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านอาเซียนสู่เพื่อนนักศึกษา ครอบครัว ท้องถิ่นและสังคม
“ประการหนึ่งที่ละเลยมิได้ คือ การส่งเสริมศักยภาพของนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากรให้สามารถทำงานร่วมกับชาวต่างชาติได้ มีความกล้าในการคิด การตัดสินใจ การปฏิสัมพันธ์ และสามารถแสดงความคิดเห็นในระดับนานาชาติได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะต่อยอดไปสู่ความพร้อมในขั้นตอนอื่นๆ ต่อไป” ดร.คมกฤตกล่าว