ตรัง - สำนักงานเกษตรหนุนปลูกข้าวโพดหวาน เกือบ 1,000 ไร่ ในหลายตำบลที่มีพื้นที่อยู่ติดกับแม่น้ำตรัง และคลองชลประทาน หลังจากตลาดมีความต้องสูง และสร้างรายได้ให้อย่างงาม
นายประพล ชัยศร เกษตรอำเภอเมืองตรัง กล่าวว่า ในช่วงหน้าแล้งของปีนี้มีเกษตรกรในหลายพื้นที่ของจังหวัดตรัง โดยเฉพาะตำบลนาท่ามใต้ และตำบลนาพละ ได้ปลูกข้าวโพดหวานสายพันธุ์อินทรี 2 หลังจากการทำนาปีเสร็จสิ้นลง รวมประมาณเกือบ 1,000 ไร่ ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ผลิตขึ้นโดยศูนย์วิจัยพืชไร่ นครราชสีมา และเกษตรกรให้ความนิยมนำไปปลูกมากที่สุด เนื่องจากฝักสวย อวบอิ่ม และรสชาติหวานอร่อย เป็นที่ต้องการของตลาดสูง ไม่ว่าจะเป็นการขายดิบ หรือต้มสุก จึงช่วยสร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกร
ทั้งนี้ ข้าวโพดหวานเป็นพืชที่ใช้ระยะเวลาในการปลูกเพียงแค่ 60 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวออกมาขายในตลาดท้องถิ่นของจังหวัดตรังได้ ซึ่งนิยมบริโภคกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดทั้งปี อีกทั้งยังเป็นพืชที่ดูแลรักษาไม่ยาก เพียงแค่ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอเท่านั้น และแม้จะเป็นช่วงหน้าแล้งแต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำอยู่แล้ว พร้อมกับดูแลมิให้หนูมากัดกินทำลายต้น และฝัก ซึ่งสำหรับเกษตรกรที่ดูแลเอาใส่ข้าวโพดหวานเป็นอย่างดีนั้น จะสามารถให้ผลผลิตออกมาสูงถึงไร่ละ 8,000 ฝัก
นอกจากนั้น ยังถือเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างสูง เพราะเกษตรกรลงทุนไปเพียงไร่ละ 6,000-7,000 บาท แต่สามารถสร้างรายได้ให้ถึงไร่ละ 30,000 บาท โดยมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ในราคาส่ง 3 ฝัก 20 บาท ซึ่งคุ้มค่าเมื่อเทียบกับต้นทุน และแรงงานที่ลงไป สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองตรัง จึงได้ส่งเสริมให้บางตำบลที่มีพื้นที่อยู่ติดกับแม่น้ำตรัง และคลองชลประทาน เช่น ตำบลหนองตรุด ตำบลโคกหล่อ ตำบลนาบินหลา หันมาใช้พื้นที่ว่างในช่วงหน้าแล้งนี้เพาะปลูกข้าวโพดหวานเพิ่มขึ้น เพราะสามารถให้ผลผลิตได้เป็นอย่างดีเช่นกัน