xs
xsm
sm
md
lg

“สมัชชาคนสตูล” ปักหมุดหยุด “อุตฯ ปิโตรเคมี” เดินหน้าดันเกษตร-ท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เวที “คนสตูลจะจัดการตนเองได้อย่างไร ภายใต้ฐานศักยภาพที่มีอยู่จริง” ในงานสมัชชาคนสตูลครั้งที่ 2 ตัวแทนภาครัฐ เอกชน และประชาชนเห็นตรงกัน ไม่ต้องการให้พื้นที่เป็นแหล่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี การพัฒนาต้องเสริมศักยภาพทรัพยากรในท้องถิ่น ให้เดินหน้าส่งเสริมด้านการเกษตรและการท่องเที่ยว

วันนี้ (22 เม.ย.) ที่โรงเรียนอนุบาลสตูล อ.เมือง จ.สตูล ชาวจังหวัดสตูล และกลุ่มภาคีเครือข่ายสมัชชาคนสตูลได้ร่วมกันจัดงานสมัชชาคน สตูล ครั้งที่ 2 “รวมคน ร่วมคิด กำหนดทิศทางคนสตูล” ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของการทำงานร่วมกันระหว่างการจัดการชุมชนของชาวบ้านในพื้นที่ เครือข่ายภาคประชาสังคม และหน่วยงานภาครัฐ ให้สอดคล้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกันบนพื้นฐานศักยภาพของทรัพยากรที่มีอยู่จริง โดยภายในงานมีการจัดเวทีเสวนาหัวข้อ “คนสตูลจะจัดการตนเองได้อย่างไร ภายใต้ฐานศักยภาพที่มีอยู่จริง” ซึ่งมีนายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล นายเอกรัฐ หลีเส็น ปลัดจังหวัดสตูล นายสมยศ ธรรมนาถ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาทอน นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายรักจังสตูล นายอัมพร แก้วหนู ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ร่วมเสวนา ดำเนินรายการโดยนายประสิทธิชัย หนูนวล
นายเอกรัฐ หลีเส็น ปลัดจังหวัดสตูล
 
นายเอกรัฐ หลีเส็น ปลัดจังหวัดสตูล กล่าวว่า สิ่งที่ทางจังหวัดสตูลพยายามผลักดันคือการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม หรือการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน การที่ประชาชนมารวมตัวกันในวันนี้เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะจะช่วยเสริมแรงกันระหว่างการทำงานของภาครัฐ และพี่น้องประชาชน จะมีส่วนทำให้การพัฒนาต่างๆ เป็นไปอย่างสะดวก ง่ายดาย และยั่งยืน

ด้านนายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สตูล กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาของ จ.สตูล กำหนดขึ้นใน 3 หัวข้อหลัก คือ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วิถีชุมชน การเกษตรอย่างยั่งยืน และการค้าบริเวณชายแดน ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการส่งเสริมด้านการเกษตรน้อยมาก แนวทางการจัดการตามศักยภาพที่สตูลมีอยู่จริง คือ ด้านเกษตร และท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
นายสมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาทอน
 
ขณะเดียวกัน นายสมยศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นาทอน อ.ทุ่งหว้า จ.สตูล กล่าวว่า จากการทำโครงการ “นาทอนแกหราตนเอง” ซึ่งเป็นการจัดการชุมชนด้วยตนเองมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง พบว่า การร่วมมือกันเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งจากผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้านในพื้นที่ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ องค์กรทางศาสนา ถ้าทุกคนทำตามหลักคำสอนทางศาสนาจะไม่มีปัญหาความวุ่นวายขึ้นเลย ซึ่งเราต้องตระหนักอยู่เสมอว่าไม่มีใครเป็นพระเอก และทำทุกอย่างสำเร็จได้เพียงคนเดียว

ยกตัวอย่างการพัฒนาของ ต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การทำลายสิ่งหนึ่งเพื่อสร้างสิ่งหนึ่ง แต่เป็นการพัฒนาที่เน้นไปที่การรู้รากเหง้า รู้วิถีธรรมชาติของชุมชน ดูแลทรัพยากร และอยู่อาศัยอย่างเกื้อกูลกันทั้งพี่น้องไทยพุทธ และไทยมุสลิม
นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายรักจังสตูล
 
ส่วนนายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายรักจังสตูล ให้ความเห็นว่า คนในพื้นที่มีสิทธิบอกว่าเราต้องการอะไร เรามีต้นทุนอะไรบ้าง และรัฐบาลก็ต้องฟังประชาชนในพื้นที่ด้วยว่าเขาเหล่านั้นต้องการอะไร คนที่อยู่ใน จ.สตูล จะต้องคิดว่าอยากให้พื้นที่ของตัวเองเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างไร พัฒนาในรูปแบบไหน อย่าให้คนอื่นมาคิดแทนเรา

นายอัมพร แก้วหนู ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์กรมหาชน) กล่าวว่า สวัสดิการชุมชนไม่ใช่แค่การช่วยเหลือเรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่หมายรวมถึงการดูแลด้านอื่นๆ ด้วย เราจะใช้ฐานสวัสดิการชุมชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทย หลายพื้นที่ออกข้อบัญญัติชุมชนเพื่อจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตัวเอง
นายอัมพร แก้วหนู ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
 
ส่วนประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ นายเอกรัฐ หลีเส็น ปลัดจังหวัดสตูล กล่าวว่า จากการกำหนดวิสัยทัศน์ของ จ.สตูล ว่า “การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เกษตรมาตรฐาน สวรรค์ชายแดนใต้” มีรูปแบบที่ชัดเจนแล้วว่าต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ตนยังไม่สามารถระบุได้ว่า ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้มากน้อยแค่ไหน ประชาชนต้องมีความพร้อมในการจัดการตัวเอง ขณะเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐก็ต้องพร้อมที่จะช่วยเหลือ และส่งเสริมประชาชนด้วย

นายอัมพร แก้วหนู ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนเชื่อในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ปัจจุบัน คนที่เป็นเจ้าของโครงการคือ ชุมชน แล้วหน่วยงานราชการเข้าไปร่วมมือกับชุมชน จึงจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายรักจังสตูล กล่าวว่า เราเข้าใจดีว่าในชุมชนมีความหลากหลาย ถ้าในชุมชน หรือท้องถิ่นไม่มานั่งคิดวางแผนเรื่องการจัดการชุมชนเลย ก็จะถูกระบอบที่อยู่ข้างบนคิดและวางแผนให้ทั้งหมด สิ่งที่ประชาชนคิดจากข้างล่าง และสิ่งที่หน่วยงานรัฐรับนโยบายมาจาข้างบน ต้องมีจุดร่วมที่บรรจบกันได้ อย่างเช่นกรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา ก็อยู่ในจุดที่กำลังหาทางออก
นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล
 
นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้ามีโปรเจกต์ใหญ่เกิดขึ้นใน จ.สตูล แนวทางของการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตนอยากให้เป็นเรื่องการตัดสินใจของคนสตูล ไม่ต้องเอาเครือข่ายภาคใต้อะไรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อยากให้คนในพื้นที่ได้กำหนดอนาคตของตัวเอง ทั้งนี้ สำหรับท่าเรือน้ำลึกปากบารา ส่วนตัวตนไม่อยากฟันธงว่าควรจะสร้าง หรือไม่ควรสร้าง แต่สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และการสร้างคลังน้ำมันนั้นตนไม่อยากให้เกิดขึ้นในพื้นที่

ชาวสตูลที่มาร่วมงานกล่าวว่า ตนเชื่อว่าคนสตูลไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่สิ่งที่ชาวสตูลอยากได้คือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สิ่งที่หน่วยงานภาครัฐต้องคำนึงถึงคือความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่หลังจากเกิดโครงการนั้นๆ ขึ้นแล้ว
นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ดำเนินรายการ

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น