xs
xsm
sm
md
lg

เสริมความรู้เกษตรกร เพิ่มคุณภาพน้ำยางพารา ก้าวสู่เวทีอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อบจ.สตูล เปิดเวทีฝึกอบรมหลักสูตร “เทคนิคการสร้างมูลค่าเพิ่มยางพารา” ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกำลังหลักในการผลิตยางพารา บนพื้นที่กว่า 4 แสนไร่ เพื่อให้เกษตรกรได้มีรายได้อย่างสม่ำเสมอและเพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพน้ำยาง ตอบโจทย์ตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

พื้นที่ปลูกยางพารากว่า 404,000 ไร่ หรือประมาณ 67% ของพื้นที่ทำการเกษตร จ.สตูล ให้ผลผลิตรวมกว่า 1 แสนตันต่อปี เป็นตัวเลขที่สูงมาก ยางพาราจึงเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของจังหวัดสตูล และเป็นขุมทรัพย์ที่สร้างรายได้หลักให้เกษตรกรเช่นกัน ปัจจุบันผลผลิตมีราคาไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ราคายางมีการผันผวน เพื่อให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคง และมีรายได้อย่างสม่ำเสมอ จึงมีหลายหน่วยงานให้ความสำคัญและร่วมกันส่งเสริมเกษตรกร

 
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล โดย นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายก อบจ.สตูล เผยถึงแนวคิดในเวทีฝึกอบรมหลักสูตร “เทคนิคการสร้างมูลค่าเพิ่มยางพารา” ซึ่ง อบจ.สตูลได้จัดขึ้นว่า เดิมจังหวัดมีพื้นที่ปลูกยางพาราจำนวนมาก และสร้างรายได้จำนวนมากในแต่ละปี แต่ได้รับความสำคัญน้อย ทั้งที่เป็นยุทธศาสตร์จังหวัด จึงมีแนวคิดที่จะส่งเสริมเกษตรกรกลุ่มนี้ เพื่อตอบโจทย์ตลาดในเวที AEC ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยการนำหลักวิชาการมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัดสตูล ซึ่งกำหนดจัดอบรม 8 รุ่น มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คน ในพื้นที่ 7 อำเภอ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความสามารถให้กับเกษตรกร และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา พร้อมพัฒนาสร้างแนวคิดใหม่ๆ ให้เกษตรกรชาวสวนยางมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้ความรู้เกี่ยวกับทิศทางและการเปลี่ยนแปลงของราคายาง ตลาด ให้กับเกษตรกรที่ประสบปัญหาในเรื่องของยางพารา สำหรับการอบรมนี้จะเป็นการบรรยายให้ความรู้พร้อมสาธิตการลับมีด การกรีดยางและระบบการกรีดยาง การดูแลรักษาสวนยาง
นายหวาเหตุ สำเร อายุ 54 ปี ต.ท่าแพ อ.ท่าแพ จ.สตูล เกษตรกรชาวสวนยางพารา
 
นายหวาเหตุ สำเร อายุ 54 ปี ต.ท่าแพ อ.ท่าแพ จ.สตูล เกษตรกรชาวสวนยางพารา กล่าวว่า ปัญหาที่เห็นได้ชัดของชาวสวนยางพาราคือ ดิน ซึ่งจะมีความเป็นกรด ด่าง สูง ทำให้ต้นยางโตไม่เต็มที่ และใช้ปุ๋ยไม่ถูกต้อง จึงเลือกที่จะแก้โดยนำตัวเองเข้ามาอบรมเพื่อเสริมความรู้นำไปพัฒนาคุณภาพยางพารา สำหรับตนเองนั้นมีสวนยางพาราอยู่ 25 ไร่ แต่ราคายางก็ไม่นิ่ง เคยเจอต่ำสุดราคากิโลกรัมละ 12 บาท สูงสุดก็ 100 กว่าบาท

ด้าน นางอาซีซ๊ะ เพ็งไซ อายุ 41 ปี ต.ท่าแพ อ.ท่าแพ จ.สตูล เกษตรกรชาวสวนยางพารา เธอบอกว่า ครอบครัวมีพื้นที่ปลูกยางพารา 12 ไร่ และพบปัญหายางโตไม่เต็มที่ น้ำยางออกน้อยอาจจะด้วยเหตุผลจากสภาพอากาศ และให้ปุ๋ยไม่เต็มที่ จึงนำตัวเองเข้าอบรมเพิ่มความรู้ วิธีการเพิ่มคุณภาพน้ำยาง ซึ่งเป็นอีกวิธีที่เกษตรกรจะเตรียมความพร้อมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะเข้ามาในอีก 2 ปีข้างหน้า
นายปิยวัฒน์ ง๊ะกูหลัง พนักงานสงเคราะห์การทำสวนยาง 5 สนง.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง
 
นายปิยวัฒน์ ง๊ะกูหลัง พนักงานสงเคราะห์การทำสวนยาง 5 สนง.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กล่าวว่า ปัญหาของเกษตรกรในปัจจุบันคือ ขาดความรู้ด้านวิชาการ ด้านการดูแลรักษาสวน เช่นการใส่ปุ๋ย การกรีดยาง การลับมีดที่ถูกต้อง อย่างการใส่ปุ๋ยนั้น เกษตรมักใส่ผิด ซึ่งจะใส่สูตร 15-15-15 ซึ่งเป็นสูตรเสมอ ใช้สำหรับไม้ผล คือ 15 แรกคือไนโตรเจน ใช้บำรุงใบ 15 กลางคือ ฟอสฟอรัสใช้สร้างดอกและผล ส่วน 15 หลัง คือโปรเตสเซียม ใช้สร้างน้ำยาง สำหรับสูตรที่แนะนำคือ ก่อนเปิดกรีด 20-8-20 สูตรหลังเปิดกรีด คือ 15-7-18 หรือ 29-5-18 และ 30-5-18 หากเกษตรกรใช้ปุ๋ยตรงกับความของการของพืช ก็จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพกลับมา ส่วนนี้ก็ต้องหาแนวทางแก้โดยการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องความเหมาะสมของดินนั้น แนะนำให้เกษตรกรนำดินแต่ละจุดไปตรวจก่อนปลูกอย่าง ซึ่งจะแนะนำพื้นที่ 10 ไร่ ก็ให้นำดิน 10 จุดไปตรวจ อีกอย่างคือการดูแลหน้ายาง ส่วนนี้ถ้าเราดูแลดีก็จะทำให้หน้ายางเรียบ เมื่อฝนตกหน้ายางก็จะแห้งเร็ว ซึ่งการดูแลหน้ายางนั้นเกษตรกรต้องเริ่มจากการกรีดอย่างถูกวิธี เมื่อกรีดยางถูกวิธีก็แทบจะไม่ต้องดูแลหน้ายางเลย แต่ต้องกรีดให้เหมาะสมกับช่วงเวลา นอกจากนั้นเรายังได้น้ำยางมีคุณภาพยางออกเยอะ โอกาสเกิดโรคก็ลดลง

 
ขณะที่ นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล หน.สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง อ.สะเดา จ.สงขลา วิเคราะห์สถานการณ์ราคายางพาราว่า ขณะนี้ถือว่าราคายังนิ่ง และคาดว่าจะนิ่งอย่างนี้อีกนาน ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย อย่างเช่น ราคาน้ำมันดิบค่อนข้างนิ่ง อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินแข็งค่าอยู่ที่ 29 บาทต่อ 1 เหรียญสหรัฐ สต๊อกยางในประเทศจีนอยู่ที่ 1 แสน 1 หมื่นตัน การเลือกตั้งในประเทศมาเลเซีย และเศรษฐกิจยุโรปไม่ดี ทำให้ราคาในประเทศไม่ขยับ และปัจจัยเสริมแรงบวกน้อย ซึ่งเกษตรกรนั้นต้องติดตามราคาด้วย หากมีกำลังเก็บยางได้ก็ควรเก็บ และต้องรู้ว่าควรขายตอนไหน หากรวมกลุ่มผลิต/ขาย เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เพื่อใช้ในการต่อรองการซื้อขาย สำหรับราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 อยู่ที่ราคา 78 บาท

 
รายได้หลักของจังหวัดสตูลในลำดับต้นๆ นั้น นอกจากรายได้จากการท่องเที่ยวแล้ว รายได้จากยางพาราในแต่ละปีก็มีอัตราสูงไม่แพ้กัน แต่เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรชาวสวน ก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตน้ำยางให้ได้คุณภาพเช่นกัน โครงการของ อบจ.สตูล ซึ่งได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปิดคอร์สให้ความรู้แก่เกษตรกรชาวสวน โดยเริ่มจากการเข้าใจปัญหาของเกษตรกรส่วนใหญ่ และนำไปสู่การแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง จะสามารถตอบโจทย์เกษตรกรได้ระดับหนึ่ง หรือจะมากกว่านั้นก็ขึ้นอยู่กับความกระตือรือร้น ที่จะหาความรู้เพิ่มของเกษตรกรเป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น