xs
xsm
sm
md
lg

เยาวชนสงขลาโชว์ 22 โครงการ แสดงศักยภาพ “พลังพลเมืองเด็ก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เยาวชนสงขลาจัดแสดงผลงาน “พลังพลเมืองเยาวชนสงขลา” โชว์ศักยภาพ และความคิดสร้างสรรค์ในการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ทั้งโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สืบสานภูมิปัญญาชาวบ้าน และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน และโรงเรียน

 
เมื่อช่วงเช้าวันนี้ (6 เม.ย.) ที่หอประชุมอาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อ.เมือง จ.สงขลา สงขลาฟอรั่ม ร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล จัดงานพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา (The Young Citizen) ขึ้น เพื่อนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ของเยาวชนใน จ.สงขลา จำนวน 22 กลุ่มทั่วทั้งจังหวัด ซึ่งหยิบยกประเด็นที่น่าสนใจ รวมทั้งปัญหาในใกล้ตัวมาพัฒนาเป็นโครงการต่อเนื่องในระยะเวลา 3 ปี เพื่อปลุกจิตสำนึกความเป็นพลเมืองที่ใส่ใจปัญหาท้องถิ่น บ้านเมือง รวมทั้งกระตือรือร้นที่จะเห็นชุมชน หรือท้องถิ่นของตัวเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยมีนายณัฐพงศ์ ศิริชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดงาน และให้คำแนะนำแก่เยาวชนเจ้าของโครงการต่างๆ

 
นางพรรณิภา โสตถิพันธ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม กล่าวว่า สำนึกเรื่องความเป็นพลเมืองเป็นประเด็นที่คุกรุ่นอยู่ในกลุ่มผู้ทำงานภาคประชาสังคมมาโดยตลอด ทุกครั้งที่ได้ยินคำว่าเด็กสมัยนี้พึ่งพาอะไรไม่ได้ ตนรู้สึกว่าเป็นการซ้ำเติมเด็ก จริงๆ แล้วเด็กมีศักยภาพในการทำสิ่งต่างๆ เยอะมาก แต่มักจะไม่มีพื้นที่ให้เขาแสดงออก โดยเฉพาะในเรื่องสำนึกความเป็นพลเมือง สงขลาฟอรั่ม ทำงานเกี่ยวกับเด็กมาโดยตลอด แต่ก็เป็นไปอย่างกระท่อนกระแท่น เนื่องจากไม่มีแหล่งเงินทุนสนับสนุน เมื่อได้พูดคุยกับมูลนิธิสยามกัมมาจลซึ่งสนใจในเรื่องการส่งเสริมพลเมืองเยาวชนเหมือนกัน จึงร่วมกันจัดโครงการพลังพลเมืองเยาวชน หรือ The Young Citizen ขึ้น
นางพรรณิภา โสตถิพันธ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม (ซ้าย) ถ่ายภาพร่วมกับเจ้าของโครงการโรงเรียนท้องนา
 
“เราไม่ได้ต้องการแค่เวิร์กชอป 1-2 วัน แล้วมาบอกว่าเด็กสนใจบ้านเมืองมากขึ้น แต่เราต้องการตามต่อในระยะยาว เป็น 3 ปี หรือ 5 ปี จึงเริ่มโครงการขึ้นอย่างจริงจังในปีนี้เป็นปีแรก มีเยาวชน 22 กลุ่มที่ผ่านการคัดเลือก ทั้งกลุ่มที่เรียนในระบบโรงเรียน และกลุ่มที่ไม่ได้เรียนในระบบ โดยน้องๆ จะส่งโครงการเข้ามาให้พิจารณา เป็นโครงการที่ทำเพื่อส่วนรวมได้ มีประโยชน์ต่อบ้านเมือง หลายๆ กลุ่มจึงถอนตัวออกไปเพราะเขาไม่ถนัดเรื่องนี้ และเงื่อนไขของเราเป็นโครงการต่อเนื่องที่จะต้องทบทวนตัวเอง และความคืบหน้าของโครงการตลอดเวลา เราร่วมทุกข์ร่วมสุขกันตลอดเวลา 1 ปี ถ้าจะเข้าร่วมอีกในปีที่ 2 ก็ต้องยกระดับโครงการให้เข้มข้นขึ้น ถ้าเราเปิดพื้นที่ให้เด็กคิดอะไรเป็นเรื่องเป็นราว และทำอะไรได้เยอะมาก เราจะเวิร์กชอปเติมความคิดเรื่องการทำงานเพื่อสังคม และเรื่องที่เกี่ยวข้องให้ เราพบว่าเด็กมีการพัฒนาตัวเอง เติบโตทางความคิด และงอกงามจากภายใน เด็กเป็นกำลังสำคัญในการดูและบ้านเมือง เพราะฉะนั้น ผู้ใหญ่ต้องเปิดพื้นที่ และสอนเขาในเรื่องนี้ด้วย”
เยาวชนกลุ่มภาพเล่าเรื่องเมืองสงขลา
กลุ่มสืบสานเพลงเรือแหลมโพธิ์
 
ด้านเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการต่างก็คิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า จากการเข้าร่วมโครงการนี้ พวกเขาได้พัฒนาตัวเองในทุกๆ ด้าน ทั้งพัฒนาตัวเอง และพัฒนาสังคมด้วย ได้ใช้ทักษะต่างๆ เยอะมาก โดยเฉพาะการสื่อสารกับผู้คนจากการลงพื้นที่เพื่อทำโครงการ ทำให้ได้นำวิชาต่างๆ ในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ด้วย

“ผมทำเรื่องการเปลี่ยนของของชายหาดสงขลาจากการกัดเซาะ พอเราทำโครงการไปสักระยะหนึ่ง ก็ต้องนำวิชาคณิตศาสตร์ นำวิชาภูมิศาสตร์มาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน ผมคิดว่าเราควรจะเอาสถานที่จริงมาเป็นห้องเรียนได้ เราเรียนวิชาฟิสิกส์จากเรื่องการกัดเซาะชายหาดได้ เรียนวิทยาศาสตร์ หรือวิชาอื่นๆ จากเรื่องรอบตัวด้วย แม้กระทั่งหอยเสียบที่พบได้ริมชายหาดก็ผูกโยงอยู่กับเรื่องเศรษฐกิจชุมชน เมืองไทยควรจะปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้สอดคล้องกับทรัพยากรในท้องถิ่น ถ้าอยู่ใกล้ป่าก็เรียนเรื่องป่า อยู่ใกล้ทะเลก็เรียนรู้เรื่องทะเล” นักเรียนจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา กล่าว

สำหรับโครงการของเยาชนทั้ง 22 กลุ่ม มีทั้งโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ภูมิปัญญาชาวบ้าน และการแก้ไขปัญหาในโรงเรียน และชุมชน เช่น แปรขยะเป็นเงิน โครงการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ โครงการโรงเรียนท้องนาซึ่งปลูกข้าวไว้กินเอง โครงการศึกษาปัญหาของชายหาด โครงการห้องสมุดเคลื่อนที่ โครงการถ่ายภาพเล่าเรื่องเมือง โครงการสืบสานเพลงเรือแหลมโพธิ์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละโครงการทำให้เห็นศักยภาพของเยาวชนใน จ.สงขลา ผู้เป็นความหวังในฐานะฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อน และดูแลบ้านเมืองต่อไป
ตัวอย่างผลงานที่ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับการออกแบบของนักศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น