xs
xsm
sm
md
lg

สงขลา “แลเล แลหาด” ฟื้นจิตสำนึกป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สงขลาจัดงาน “แลเล แลหาด ครั้งที่ 2” สร้างการตระหนักและให้ความรู้เรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง หลังชายหาดใน จ.สงขลาพังทลายต่อเนื่อง ด้านผู้เชี่ยวชาญเผยหาก ทน.สงขลา แก้ปัญหาชายฝั่งด้วยการเติมทรายจริงก็เป็นทางออกที่ดี แต่ต้องจับตาดูวิธีดำเนินการอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

วานนี้ (5 มิ.ย.) ซึ่งตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก ที่บริเวณหาดชลาทัศน์ อ.เมือง จ.สงขลา ได้จัดงาน “แลเล แลหาด ครั้งที่ 2” ขึ้น โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย, สงขลาฟอรั่ม, คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา มูลนิธิสยามกัมมาจล ภาคีคนรักสงขลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเรื่องการพังทลายของชายหาด พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้ตระหนักถึงสาเหตุที่แท้จริงของการกัดเซาะชายฝั่ง ตลอดจนร่วมกันรณรงค์วิธีการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่จะไม่ทำให้ชายหาดพังทลายเพิ่มขึ้น เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาชายหาดของ จ.สงขลา และจังหวัดใกล้เคียงถูกกัดเซาะเป็นบริเวณกว้าง


กิจกรรมปลูกผักบุ้งทะเล
 
โดยในช่วงกลางวันนอกจากจะมีการเดินรณรงค์ และจัดนิทรรศการภายในเขตเทศบาลนครสงขลาแล้ว ยังมีกิจกรรมเติมทรายพร้อมเก็บขยะบริเวณชายหาดด้วย ส่วนในช่วงค่ำมีการแห่เครื่องขอขมาคารวะชายหาดไปรอบเมืองสงขลา เวทีเสวนาเรื่องการฟื้นฟูหาดสงขลา และพิธีขอขมาคารวะชายหาด เพื่อตั้งจิตอธิษฐานและขอมาที่เคยได้ล่วงเกินธรรมชาติ โดยมีนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกว่า 500 คน

แห่เครื่องขอขมาคารวะชายหาด


การแสดงขอขมาคาวระชายหาด โดยกลุ่ม ArtsForLife




ดร.สมบูรณ์ พรพิเนตพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุทรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า สาเหตุที่ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่งปรากฏเด่นชัดเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากนับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาพบว่า รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณจำนวนมากสำหรับโครงการสิ่งปลูกสร้างบริเวณชายหาด ซึ่งยิ่งมีสิ่งปลูกสร้างยื่นลงไปในทะเล หรือรบกวนชายหาดมากเท่าไหร่ก็จะส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้นเท่านั้น

เพราะธรรมชาติสร้างชายหาดขึ้นมาเพื่อเป็นตัวซับแรงกระแทกและป้องกันกระแสคลื่นลมปะทะกับส่วนที่เป็นแผ่นดิน ทั้งนี้ กระแสน้ำจะพัดพาตะกอนดิน หิน ทรายมาจากภูเขา และคลื่นจะเป็นตัวตีตะกอนทรายกลับมายังชายฝั่งกลายเป็นสันดอน และเกิดเป็นหาดทรายในที่สุด เมื่อมีการยับยั้งไม่ให้ตะกอนเหล่านั้นลงมายังทะเล หรือมีการป้องกันไม่ให้คลื่นพัดทรายเข้าสู่ชายฝั่ง เช่น เขื่อนกันคลื่น ก็จะไม่มีทรายหล่อเลี้ยงชายหาด เกิดการกัดเซาะในบริเวณถัดไปทันที

ต่อข้อซักถามที่ว่า เทศบาลนครสงขลาจะแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยการเติมทรายนั้นจะมีส่วนช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งหรือไม่ ดร.สมบูรณ์กล่าวว่า ในทางวิศวกรรมปัญหาที่เกิดจากคน ย่อมแก้ได้ด้วยคน แต่ทั้งนี้จะต้องแก้ไขด้วยความจริงใจ ทั้งนี้ ตามหลักการแล้ว “การเติมทราย” สามารช่วยแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งได้ 100% แต่ต้องจับตาวิธีการดำเนินการว่าจะทำอย่างไร ซึ่งถ้าทำผิดวิธีก็อาจจะแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่ได้

 
“ถ้าสงขลาแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งด้วยการเติมทราย ก็จะกลายเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่แก้ปัญหาการกัดเซาะด้วยวิธีนี้ แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าวิธีรการที่ดำเนินการจะช่วยแก้ปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ ก่อนจะดำเนินการได้นั้นต้องทำรายงานการศึกษาก่อนว่าจะเติมอย่างไร บริเวณไหน เติมเท่าไหร่ ซึ่งจะต้องจับตาดูกันอีกต่อไป” ดร.สมบูรณ์กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น