xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.หอฯนราฯ-โฆษกที่ปรึกษา ศอ.บต.มั่นใจ “นาจิบ” ยุบสภาไม่กระทบการเจรจาสันติภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นราธิวาส - ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส และโฆษกสภาที่ปรึกษาฯ ศอ.บต. มั่นใจการยุบสภาของรัฐบาลมาเลเซีย ไม่ส่งผลต่อการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับแกนนำบีอาร์เอ็น และพูโล

นายศรัณย์ วังสัตตบงกช ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส มั่นใจว่า การประกาศยุบสภาของนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียไม่กระทบการเจรจาสันติภาพระหว่าง สมช. กับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น และพูโล เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียเป็นเพียงผู้ประสานงานระหว่าง 2 ฝ่าย ไม่ได้อยู่ในฐานะคู่เจรจา ดังนั้น การประกาศยุบสภาของรัฐบาลมาเลเซีย จึงไม่ส่งผลกระทบต่อกรอบการเจรจาแต่อย่างใด ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ก็เชื่อว่ายังคงมีความแน่นแฟ้นเช่นเดิม เพราะมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ก็จำเป็นที่จะต้องติดตามการเลือกตั้งในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทราบถึงแนวทาง และนโยบายของผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละฝ่าย เพราะจะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวในพื้นที่ตามแนวชายแดนของประเทศไทยด้วย

ด้าน นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช โฆษกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า การเจรจาสันติภาพที่ผ่านมาเกิดจากการพูดคุยกันระหว่างรัฐไทยกับแกนนำบีอาร์เอ็น และแกนนำพูโล ซึ่งในส่วนของประเทศมาเลเซีย ได้ส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นฝ่ายราชการมาร่วมสังเกตการณ์ เช่น ฝ่ายทหารและสันติบาล โดยไม่มีฝ่ายการเมืองมาเข้าร่วมในกิจกรรมใดๆ ในระหว่างที่มีการเจรจาสันติภาพ จึงเชื่อได้ว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะยังเป็นรัฐบาล หรือยุบสภาไปแล้วก็จะไม่เกิดผลใดๆ ต่อกรอบการหารือที่ได้มีการพุดคุยกันไป

อีกทั้งคาดว่าการเจรจาสันติภาพในรอบต่อไปที่กำหนดไว้เป็นวันที่ 29 เม.ย.56 ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยรัฐบาลมาเลเซียอาจได้รับประโยชน์ทางการเมืองจากการเป็นตัวกลางประสานความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่าย ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นเท่านั้น

นอกจากนี้ โฆษกสภาที่ปรึกษาฯ ศอ.บต.ยังระบุว่า ลักษณะของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ ก็ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่รัฐบาลไทยก็จะต้องดำเนินการพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศมาเลเซียต่อไป ไม่ว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ ฝ่ายใดจะเป็นผู้ชนะ เพราะเป็นเรื่องปกติของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับเงื่อนไขระหว่างประเทศใน 3 ประเด็นหลัก คือ

การพัฒนาการศึกษา การเป็นคู่ค้าทางเศรษฐกิจ รวมถึงการจ้างแรงงาน โดยไม่ได้อยู่ในข้อจำกัดว่ารัฐบาลไทยจำเป็นต้องเลือกข้างกับการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ต่างกับประเทศมาเลเซียที่แม้จะมีการเปลี่ยนขั้วการเมือง หลังการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ยังดำเนินการพัฒนาความสัมพันธ์ และประสานความร่วมมือเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศของทั้ง 2 ฝ่ายตามปกติอยู่แล้ว
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น