xs
xsm
sm
md
lg

เยาวชนปัตตานียื่นหนุนเจรจา BRN ยกระดับสู่เวทีโลก เปิดข้อมูลถก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายภาคประชาชน-นักศึกษา ปาตานีและผู้รักษ์สันติภาพ จ.ปัตตานี ยื่นหนังสือนายกฯ หนุนเจรจาบีอาร์เอ็น อ้างชาวบ้านหนุน แนะยกระดับเจรจาสู่เวทีโลก เปิดเผยข้อมูล หาองค์กรกลางคุย ด้านเลขาฯ สมช.รับปากชงให้

วันนี้ (26 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน นักศึกษา ปาตานีและผู้รักษ์สันติภาพ จ.ปัตตานี ประมาณ 30 ราย ได้เดินทางทางมายื่นจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางเจรจากับกลุ่มที่ก่อความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ โดยเห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นเพื่อให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ ซึ่งนายกฯ ได้มอบหมายให้ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาฯ สมช.มารับหนังสือแทน

นายฮากิม พงติกอ แกนนำสหพันธ์นิสิต นักศึกษาสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้อ่านจดหมายเปิดผนึกว่าประชาขนในพื้นที่ต่างแสดงเจตจำนงค์มาในจดหมายนี้เพื่อมอบให้นายกฯ ในการสร้างความสงบสุขสันติภาพในรัฐปัตตานี โดยที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ไปพูดคุยกลุ่มปฏิบัติการแนวร่วมกู้ชาติรัฐปัตตานี หรือกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยมีรัฐบาลมาเลเซียเป็นผู้ร่วมเจรจา และมีการลงนามร่วมกันว่าจะไม่สนับสนุนการเป็นอิสระของรัฐปัตตานี ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงในการแก้ไข และไม่สนับสนุนผู้กระทำความผิด

นายฮากิมกล่าวว่า กลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นองค์กรปฏิวัติที่มีมวลชนให้การสนับสนุนจำนวนมาก ภาพที่เห็นว่ารัฐบาลได้ไปเจรจากับนายฮาซัน ตอยิบ ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มบีอาร์เอ็นตัวจริงที่ได้รับการขึ้นนำกลุ่มแล้ว รัฐบาลไทยควรยกระดับการพูดคุยลับๆ มาเป็นระดับสากลให้ทั่วโลกได้รับรู้ด้วยทำให้การแก้ไขได้ยั่งยืนกว่า และจะทำให้การแก้ไขไปในแนวทางที่ดีที่สุด สามารถส่งเป็นสัญญานบวกในการเจรจากับกลุ่มบีอาร์เอ็นให้กับทั้งสองประเทศทั้งไทยและมาเลเซีย โดยเครือข่ายฯ สนับสนุนการเจรจาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่ควรจะเปิดเผยต่อสาธารณะถึงข้อตกลงในเจรจาครั้งต่อไปอย่างตรวไปตรงมาจะเกิดผลดีต่อทุกฝ่าย

“ไทยต้องยอมรับว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นคู่ความขัดแย้งกับราชอาณาจักรไทย รวมทั้งมาเลเซียก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วยมายาวนาน การจะให้กลุ่มนี้มาเจรจาภาคใต้รัฐธรรมนูญของไทยและการใช้ข้อบังคับเดียวกับประชาชนในพื้นที่คงไม่ได้ รัฐไทยต้องไม่เอาข้อเรียกร้องของภาคประชาชนในเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือการยกเว้นกฎหมายบางฉบับไปเจรจาต่อรองกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งไม่ใช้แนวทางแก้ไขปัญหาไม่สงบที่ตรงจุด ทางเครือข่ายฯ เห็นว่าต้องหาองค์กรที่เป็นกลางเข้ามาเจรจาที่ไม่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงจะได้ประสิทธิผลสูงสุด” นายฮากิมกล่าว

พล.ท.ภราดรกล่าวว่า ตนในฐานะเลขาฯ สมช.ไปพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น และรัฐบาลมาเลเซียได้อำนวยความสะดวกให้ ขอขอบคุณกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ได้ลงพื้นที่หาข้อมูลมาให้ ตนจะนำข้อมูลนี้เสนอต่อนายกฯ ต่อไป ถือว่าเป็นข้อมูลที่ตกผลึกมาจากภาคประชาชนในพื้นที่จริงมาสู่รัฐบาล น่าจะบรรลุความสงบสุขในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น