โดย...ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้(DSJ)
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2556 ที่ห้องประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัด “สัมมนาเพื่อสร้างความปรองดองและสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ร่วมด้วย พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และมีผู้นำศาสนาและประชาชนทั้งไทยพุทธ และมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประมาณ 300 คน
พ.ต.อ.ทวี ได้ให้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ได้เล่าถึงบรรยากาศของพูดคุยกันระหว่างคณะเจรจาของรัฐบาลไทย ที่นำโดย พล.ท.ภราดร กับฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น ที่นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ที่รัฐกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อที่จะให้ผู้นำศาสนา และประชาชนที่เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้รับทราบถึงบรรยากาศของการพูดคุย
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เล่าถึงบรรยากาศของการพูดคุยการพูดคุยครั้งนี้ว่า คณะเจรจาของฝ่ายไทยประกอบด้วย 9 คน เป็นตัวแทนจากหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง จำนวน 6 คน และตัวแทนจากภาคประชาสังคม จำนวน 2 คน ส่วนฝ่ายขบวนการ มีตัวแทนที่มาเจรจาในครั้งนี้จำนวน 6 คน โดยเป็นตัวแทนที่มาจากขบวนการบีอาร์เอ็น จำนวน 5 คน และตัวแทนของพูโล (PULO) 1 คน
“การพูดคุยครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่สำหรับผม เพราะไม่เคยมีประสบการณ์อย่างนี้มาก่อน ผมมีความรู้ในเรื่องทฤษฎีเท่านั้น สิ่งที่ประทับใจคือ ทางรัฐบาลมาเลเซียมีการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี ทั้งการจัดเวที การจัดกระบวนการพูดคุย ตลอดจนสถานที่การประชุมก็มีความลึกลับซับซ้อน กว่าจะเข้าไปถึง รถต้องวนกันหลายรอบ ประธานในที่ประชุมเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในการจัดประชุมลักษณะนี้ ทำให้บรรยากาศในการพูดคุยเป็นบรรยากาศที่ไปด้วยดี มีความเป็นมิตรต่อกัน ไม่ได้ตึงเครียดแต่อย่างใด”
อ.ศรีสมภพ เล่าต่อว่า ในช่วงเช้ามีการพูดคุยกันในเรื่องของเงื่อนไขข้างต้น หรือ TOR ในประเด็นว่าจะมีการจัดกระบวนการพูดคุยอย่างไร พูดถึงเรื่องของสมาชิกที่เข้าร่วมในการพูดคุยอย่างไร การประสานงานทั้ง 2 ฝ่าย จะทำกันอย่างไร ต่อด้วยการพูดถึงประเด็นการขอความคุ้มครองทางกฎหมาย หรือหลักประกันการคุ้มครองทางกฎหมาย สำหรับตัวแทนของฝ่ายขบวนการที่จะออกมาพูดคุยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับบุคคลที่มีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) หรือตามหมายพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (หมาย ฉฉ.) ว่าจะทำอย่างไรในเรื่องนี้ เพื่อความสะดวกในการดำเนินการในระหว่างที่มีการเจรจากัน
ในช่วงบ่าย ใช้เวลาในการพูดคุยกันนานมาก ตั้งแต่เวลา 14.00 น. จนถึงช่วงคำ เริ่มด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. เสนอต่อฝ่ายการขบวนการบีอาร์เอ็น จำนวน 3 ข้อ คือ 1.ทำอย่างไรที่จะให้ความรุนแรงลดลง โดยเฉพาะความรุนแรงต่อ เด็ก สตรี ครู พระ และผู้หญิง 2.ทำอย่างไรที่หลีกเลี่ยงการก่อเหตุในเขตเมือง เขตชุมชน และเขตเศรษฐกิจ เพราะจะทำให้คนบริสุทธิ์ได้รับผลกระทบด้วย 3.สร้างความเชื่อมั่นโดยการมาร่วมกันช่วยหาสาเหตุของความรุนแรง
“ในช่วงนี้เป็นส่วนที่ใช้เวลามากที่สุดในการพูดคุย โดยตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นกล่าวว่า ปัญหารากเหง้าของความขัดแย้ง และความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นความผิดของขบวนการบีอาร์เอ็นอย่างเดียว แต่จะต้องพูดถึงว่ารัฐไทย ก็เป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความรุนแรง ตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นได้ระบายความรู้สึกสะเทือนใจที่รัฐไทยกระทำต่อพี่น้องประชาชนมลายูปาตานี ตั้งแต่อดีต เช่น กรณีของนายหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ กรณีเหตุการณ์กบฏดุซงญอ เมื่อ 2491 กรณีเหตุสังหาร 6 ศพที่สะพานกอตอเมื่อปี 2518 เหตุการณ์ประท้วงที่ปัตตานีเมื่อปี 2518 เหตุการณ์ตากใบ เมื่อปี 2547 เหตุการณ์กรือเซะ เมื่อปี 2547 เป็นต้น”
อ.ศรีสมภพ กล่าวว่า ในการระบาย และสะท้อนความรู้สึกสะเทือนใจต่อชะตากรรมของชาวมลายูปาตานีที่ต้องถูกรัฐไทยกระทำในเหตุการณ์ต่างๆ ของตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็นเป็นด้วยความตึงเครียด โดยพูดด้วยภาษามลายูถึงความรู้สึกเจ็บปวด เจ็บช้ำ อัดอั้น สะเทือนใจ โดยระหว่างการบอกเล่านั้น ผู้พูด และเพื่อนร่วมคณะไม่อาจกลั้นน้ำตาในสิ่งที่ได้บอกเล่าและได้ยิน กระทั่งผู้เล่าได้ร้องไห้โฮต่อหน้าที่ประชุม และต้องออกนอกห้องประชุมเพื่อระงับอารมณ์ความรู้สึกจึงสามารถเข้าร่วมพูดคุยได้
“การแสดงความรู้สึกนี้ผมคิดว่าเป็นความรู้สึกที่แท้จริงของเขา เป็นความรู้สึกของนักต่อสู้ปาตานีที่ต้องการต่อสู้เพื่อประชาชนของเขา ความรู้สึกเจ็บปวดที่เคยถูกกระทำจากรัฐในอดีต โดยที่คณะเจรจาของฝ่ายไทยทุกคนรับฟังอย่างสงบ ไม่มีการตอบโต้กันแต่อย่างใด ทุกคนมีความตั้งใจที่จะรับฟังกันถึงความเจ็บปวดของพี่น้องประชาชนปาตานี”
ทางด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.ได้ชี้แจ้งถึงการดำเนินการของรัฐบาลที่ผ่านมา ในการแก้ปัญหาต่างๆ ต่อประชาชนในพื้นที่ เช่น การเยียวยาต่อผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ความไม่สงบอย่างเต็มที่ การเปิดพื้นที่สนับสนุนด้านวัฒนธรรม ภาษา โดยการเปิดสถานีโทรทัศน์ภาษามลายู ร่วมทั้งการแก้ปัญหาเรื่องของความยุติธรรมต่อประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนการออกมาตรการต่างๆ ไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไปทำร้ายประชาชน เป็นต้น ส่วนเรื่องของเหตุการณ์ในอดีต เช่น กรณีหะยีสุหลง อับดุลกอเดร์ กรณีเหตุการณ์กบฏดุซงญอ เป็นต้น เป็นเรื่องที่ทางเจ้าหน้าที่ของรัฐที่นั่งอยู่ที่นี้ไม่ได้อยู่ในช่วงนั้น จึงไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้
อ.ศรีสมภพ เล่าต่อว่า “เมื่อมาถึงจุดนี้ ผมเองในฐานะที่เป็นนักวิชาการ หรือตัวแทนภาคประชาชนที่เข้าไปร่วมในกระบวนการนี้ พยายามที่จะพูดให้เห็นว่า ผมมีความเข้าใจต่อความรู้สึกของฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น หรือต่อพี่น้องมลายูปาตานี เพราะผมมีคนรู้จักในพื้นที่ และมีลูกศิษย์ที่เป็นชาวมลายูหลายคน และมีความรู้สึกในความเจ็บปวดต่างๆ ขณะเดียวกัน ผมชี้ให้เห็นว่าความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่มีเฉพาะคนมลายูอย่างเดียว เพราะเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้ที่เสียชีวิตแล้วกว่า 5,500 คน บาดเจ็บเป็นหมื่นคน คนที่เสียชีวิตมีทั้งทหาร ตำรวจ ไทยุพทธ มุสลิม และประชาชนผู้บริสุทธิ์ ดังนั้น ความเจ็บปวดจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ เป็นความเจ็บปวดของทุกฝ่าย เราไม่อยากที่จะให้คนในพื้นที่เสียชีวิตมีจำนวนมากกว่านี้ เรามีหนทางหาทางออกกันหรือไม่ในตอนนี้”
ในการพูดคุยในครั้งนี้ ขบวนการบีอาร์เอ็นเสนอว่ารัฐต้องแสดงให้เห็นถึงรูปธรรมที่ชัดเจนในเรื่องของการให้ความยุติธรรมต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในเรื่องกฎหมายและต่อผู้ต้องหาในคดีทางการเมือง ซึ่งทางฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น รับจะพิจารณาเรื่องของการลดการก่อเหตุการณ์ความรุนแรง โดยจะนำเรื่องนี้เข้าไปพิจารณาในสภาของเขา แต่ยังไม่สามารถที่จะพูดคุยในรายละเอียดได้ เนื่องจากเวลาไม่เพียงพอ จึงมีการนัดให้มีการพุดคุยกันอีกครั้งในวันที่ 29 เมษายน 2556 โดยมีการฝากการบ้านแก่ทั้ง 2 ฝ่ายว่า ทางฝ่ายรัฐไทยรับที่จะไปดำเนินการในเรื่องของความยุติธรรม ส่วนขบวนการบีอาร์เอ็นทำอย่างไรที่จะทำให้ความรุนแรงลดลง
“การพูดคุยครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ทางฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นมาในฐานะตัวแทนองค์กร หรือตัวแทนจากสภาซึ่งเป็นองค์กรนำของขบวนการ ไม่ใช่มาในนามส่วนตัว ดังนั้น หากจะมีข้อตกลงอะไรกับรัฐไทย จึงต้องเป็นข้อตกลงที่ผ่านมติของสภาของเขา โดยองค์กรต่างๆ ทุกระดับต้องรับทราบ สำหรับประเด็นที่วิตกกังวลว่า การพูดคุยครั้งนี้จะแก้ปัญหาความรุนแรงได้จริงหรือไม่ คงมีหลักประกันมากพอสมควรว่า ครั้งนี้เป็นการพูดคุยในนามองค์กร หรือเป็นกลไกที่เรามีความเชื่อมั่นว่าน่าจะเป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้”
อ.ศรีสมภพ กล่าวอีกว่า ในช่วงท้ายของการพูดคุย ตนมีความประทับใจในคำพูดของทั้ง 2 ฝ่าย โดยนายฮัสซัน ตอยิบ ได้พูดว่า ขอขอบคุณที่ทางรัฐไทยรับฟังความรู้สึกเจ็บปวดของนักสู้ปาตานี แม้ว่าจะมีปัญหาบ้างในกระบวนการสร้างสันติภาพก็ตาม เราจะพยายามหาทางออกให้ได้ ส่วน พล.ท.ภราดร กล่าวว่า ความสำเร็จในวันนี้คือการได้รับรู้ความจริงใจระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเป็นโอกาสที่จะให้มีการพูดคุยต่อไป ดังนั้น การพูดคุยครั้งต่อไปต้องดีขึ้นเมื่อรับทราบความรู้สึกของทั้ง 2 ฝ่ายด้วยความจริงใจ