ศูนย์ข่าวภูเก็ต - “สภาทนายความ” ประชุมที่ภูเก็ต ชี้แจงทำความเข้าใจค้านกฎหมายศาลเด็กฯ จัดอบรมที่ปรึกษาสภาศาลเยาวชนและครอบครัว
เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (31 มี.ค.) ที่โรงแรมสินทวี ถนนพังงา อ.เมืองภูเก็ต ได้มีการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2556 ของสภาทนายความจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 1/2556 โดยมีนายสรัลชา ศรีชลวัฒนา เลขาสภาทนายความแห่งประเทศไทย นายรันรัฐ นาคสุวรรณ กรรมการบริหารสภาทนายความ ภ.8 นายชัยยศ ปัญญาไวย ประธานสภาทนายความจังหวัดภูเก็ต และสมาชิกสภาทนายความจังหวัดภูเก็ต รวมถึงผู้เกี่ยวข้องร่วมประชุม
นายชัยยศ กล่าวว่า ในทุกปีสภาทนายความฯ จะมีการนัดประชุมใหญ่ประจำปี ซึ่งวาระการประชุมในปีนี้ ทางสภาทนายความฯ จะแจ้งให้สมาชิกทราบถึงงานที่ทางสภาทนายความฯ ทำมาตลอดปี 2555 ว่าได้มีการทำอะไรกันไปบ้าง นอกจากนี้ ยังจะได้มีการสรุปผลงานในส่วนของคณะกรรมการฯ ชุดปัจจุบัน
วาระต่อไป ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนที่จะมีการพูดคุยกันในที่ประชุม เรื่องการแจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการอบรมที่ปรึกษาสภาศาลเยาวชนและครอบครัว และความคืบหน้าของคณะทำงาน ดำเนินการแก้ไขปัญหาอุปสรรค ผลกระทบต่อวิชาชีพทนายความ จาก พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ในมาตรา 120 ถึงมาตรา 123 เนื่องจากมาตราดังกล่าวได้กำหนดให้ศาลเยาวชนฯ ต้องจัดอบรมที่ปรึกษากฎหมายเพื่อทำหน้าที่ทนายความในการดำเนินคดีเยาวชนและครอบครัว และหากทนายความคนใดไม่มีใบอนุญาตเป็นที่ปรึกษากฎหมายก็ไม่มีสิทธิว่าความ ส่วนวาระสุดท้าย เป็นวาระอื่นๆ เกี่ยวกับทิศทางการทำงานของสภาทนายความ ตลอดจนทนายความในจังหวัดภูเก็ต
ด้านนายสรัลชา ศรีชลวัฒนา เลขาธิการสภาทนายความแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีเกี่ยวกับการอบรมที่ปรึกษาสภาศาลเยาวชนและครอบครัว จะเป็นการเริ่มบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.วิธีพิจารณาของคดีของเยาวชนและครอบครัว ที่เรียกว่าศาลเด็ก ซึ่งกฎหมายดังกล่าว จะเริ่มใช้บังคับในวันที่ 23 พฤษภาคม 2556 ซึ่งในกฎหมายมีข้อบังคับของประธานศาลฎีกา บอกว่า ทนายความที่จะไปว่าความในคดีอาญาของเด็กได้จะต้องผ่านการอบรมจากศาลเยาวชนก่อน
ต่อกฎหมายดังกล่าว ทำให้ทนายความทั่วประเทศเกิดความกังวลว่า ในเมื่อเขามีใบอนุญาตของสภาทนายความอยู่แล้ว สามารถว่าความได้ทั่วราชอาณาจักร ได้ทุกศาล ทำไมมีกฎหมายเช่นนี้ออกมาลิดรอนสิทธิประชาชน ลิดรอนสิทธิเด็ก ลิดรอนสิทธิทนายความ ที่บังคับให้ทนายความต้องไปอบรมกับศาลเยาวชนก่อนแล้วถึงจะได้ใบอนุญาตอีกใบ เพื่อว่าความให้แก่เด็กในคดีอาญา
“ก็มีความกังวลใจว่ากฎหมายฉบับนี้ขัด หรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งทนายความทั่วประเทศมีความเห็นต่อข้อบังคับของประธานศาลฎีกาที่ออกมาเช่นนี้ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการลิดรอนสิทธิต่อประชาชน เป็นการลิดรอนสิทธิเด็ก แล้วก็โดยเฉพาะอย่างยิ่งลิดรอนสิทธิทนายความผู้ประกอบอาชีพ เพราะว่าเขาเคยมีใบอนุญาตของสภาทนายความที่มีการอบรมกันมาแล้ว จนได้ใบอนุญาตทนายความแล้ว สามารถว่าความได้ทั่วราชอาณาจักร”
นายสรัลชา กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม หากศาลเยาวชนและครอบครัวมาออกกฎข้อบังคับเช่นนี้ ต่อไปศาลอื่นก็ต้องออกข้อบังคับข้อนี้ออกมาอีก ทำให้ทนายต้องถือใบอนุญาตหลายๆ ใบถึงจะต้องไปว่าความได้ เช่น ศาลแรงงาน ศาลล้มละลาย ศาลปกครอง เหล่านี้เป็นต้น ก็จะทำให้ทนายความยุ่งยากต่อการที่จะประกอบอาชีพ กระทบต่อวิชาชีพ
เพราะฉะนั้น ทางสภาทนายความแห่งประเทศไทย จึงคิดว่าเราจะทำตามมติที่ประชุมของ 108 ศาลจังหวัดที่ให้ฟ้องต่อศาลปกครอง ฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้เห็นว่าข้อกฎหมาย และข้อบังคับที่ออกมามันขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ให้ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดอีกครั้ง ซึ่งในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายข้อบังคับในวันที่ 23 พฤษภาคม 2556 ก็ยังปฏิบัติหน้าที่ได้อยู่ แต่ว่าเมื่อเราฟ้องร้องไปแล้วเราก็อาจจะต้องขอคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้ทนายความได้ปฏิบัติหน้าที่ได้จนกว่าศาลจะพิพากษา ทนายความก็มารอฟังอยู่ว่าทางสภาทนายความจะดำเนินการต่อไปอย่างไร วันนี้ตนจึงได้เดินทางมาประชุมร่วมกับสมาชิกสภาทนายความที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อชี้แจงให้คลายความกังวล