xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.ร่วมกับสภาที่ปรึกษา จัดสัมมนาเตรียมพร้อมอาเซียนของ 5จังหวัด เร่งสร้างศักยภาพ และภาษาในการทำงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัตตานี - ศอ.บต. ร่วมกับสภาที่ปรึกษาจัดสัมมนาเตรียมความพร้อมของ 5 จังหวัดชายแดนใต้สู่ประชาคมอาเซียน เร่งฝีเท้าให้ทันประเทศที่มีความพร้อมกว่า ทั้งในเรื่องการสร้างคุณภาพอย่างมืออาชีพ และภาษาพูดในการเจรจา

วันนี้ (27 มี.ค) ที่ห้องประชุมน้ำพราว โรงแรม ซี.เอส. จ.ปัตตานี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วยคณะกรรมการที่ปรึกษา ศอ.บต.ได้ร่วมกันจัดเวทีสัมมนาเตรียมความพร้อมของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้สู่ประชาคมอาเซียน โดยมี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน บรรยายพิเศษในหัวข้อ 5 จังหวัดชายแดนใต้กับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

นอกจากนั้น ในช่วงภาคบ่ายมีการบรรยายในหัวข้อ “ประชาชนจะได้อะไรกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” โดยเฉพาะกับการเปลี่ยนแปลงการค้าชายแดน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีว่าเรามีความพร้อมแค่ไหน โดยมีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กรมอาเซียน ตัวแทนจากกระทรวงต่างประเทศ และตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมการสัมมนา ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 300 คน ที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย

ซึ่งอดีตเลขาธิการอาเซียนชื่นชมกับการที่ทาง ศอ.บต. ได้ให้ความสำคัญกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่จะมาใน 2 ปีข้างหน้านี้ว่า เรายังพอมีเวลาที่จะเตรียมความพร้อมของการสู่ประชาคมอาเซียนถึง แม้อาจต้องเร่งฝีเท้าเพื่อให้ทันกับประเทศที่เขามีความพร้อมกว่าเราอย่าง ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น

นับว่าโชคดีของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรามีทุกอย่างที่เป็นอาเซียนก่อนแล้ว มีประเพณี วัฒนธรรมที่หลากหลายที่สามารถอยู่รวมกันได้ มีภาษามลายูที่ใช้เป็นภาษาในพื้นที่ซึ่งเป็นภาษาของส่วนใหญ่ของประชาคมอาเซียนมีมากถึง 300 ล้านคน และนับได้ว่า พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความพร้อมที่สุดของการเตรียมตัวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนของไทย

นอกจากนั้น อดีตเลขาฯ ยังกล่าวอีกว่า บางครั้งคนไทยเราอาจคิดว่าตัวเองไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครเราอาจกลายเป็นผู้นำของอาเซียน จึงทำให้หลายประเทศที่ได้สร้างความพร้อมจึงสามารถแทรกแซงเราไปสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน จนกระทั่งไทยเราต้องมากลับแข่งกับประเทศที่ด้อยการพัฒนากว่าเราหลายเท่า

ต่อไปเราจะมาคิดแค่ผลประโยชน์กับการทำธุรกิจกับคน 65 ล้านคน แต่ต้องพร้อมที่สร้างคนของเราสู่การเจรจาผลประโยชน์นอกประเทศที่มีประชากร 600 ล้านคน เราต้องสร้างความพร้อมโดยเฉพาะในเรื่องภาษาที่เราต้องรู้ไม่ใช่เป็นอยู่เพียงภาษาเดียวไม่พอ เราต้องรับรู้ภาษาอื่นของอาเซียน ภาษามลายู ภาษาอังกฤษ เป็นต้น เราต้องสร้างคนของเราให้คุณภาพอย่างมืออาชีพ แต่ต้องไม่ลืมให้เขาเป็นมืออาชีพในเรื่องภาษาด้วย

 
 



กำลังโหลดความคิดเห็น