xs
xsm
sm
md
lg

ระนอง เตรียมจัดงานครบรอบ 100 ปี อสัญกรรมพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี “บิดาแห่งยางพาราไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระนอง - ตระกูล ณ ระนอง เตรียมจัดงานครบรอบ 100 ปี อสัญกรรมพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี “บิดาแห่งยางพาราไทย” ในวันที่ 10 เมษายน 2556 เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีที่มีต่อชาวระนอง

นายโกศล ณ ระนอง ทายาทตระกูล ณ ระนอง กรรมการการจัดงาน กล่าวว่า จะมีการจัดงานทำบุญอุทิศส่วนกุศลเนื่องในวาระครบรอบ 100 ปี อสัญกรรมพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี “บิดาแห่งยางพาราไทย” ขึ้นในวันที่ 10 เมษายน 2556 ณ ค่ายเจ้าเมืองระนอง เวลา 09.00-13.00 น. โดยจะมีการจัดนิทรรศการให้ประชาชนได้เข้าชม ซึ่งทางจังหวัดระนองนั้นนับเป็นจังหวัดที่ผลิตเจ้าเมืองหัวเมืองต่างๆ ในภาคใต้ก็ว่าได้

ซึ่งพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) นั้น เป็นบุตรคนที่ 6 (คนสุดท้อง) ของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี หรือท่านคอซู้เจียง เจ้าเมืองระนอง และเคยดำรงตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต และองคมนตรีรัชกาลที่ 6 เป็นผู้ว่าราชการเมืองตรัง ผู้ว่าราชการเมืองตระ (อำเภอกระบุรีในปัจจุบัน) และเป็นผู้ช่วยราชการเมืองระนอง และนอกจากนี้ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) นั้น นับเป็นบิดาแห่งยางพาราไทยอีกด้วย เนื่องจากเป็นผู้นำยางพาราต้นแรกเข้ามาปลูกในประเทศไทย ที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง

นอกจากนี้ นายโกศล ณ ระนอง กล่าวต่อว่า ภายในค่ายเจ้าเมืองระนองนั้น ก็มีต้นยางพาราที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ได้ปลูกเอาไว้ที่บ้านของท่านโดยปลูกพร้อมๆ กับที่จังหวัดตรัง และมีขนาดใหญ่ซึ่งน่าจะใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้สุสานของท่านก็อยู่ที่เขาระฆังทอง ใกล้กับสุสานของเจ้าเมืองระนอง ซึ่งก็อยากเชิญชวนชาวระนองมาเทียวชมนิทรรศการในวันดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้ทราบถึงชีวประวัติ และความภาคภูมิใจในจังหวัดระนองของเรา ที่มีเจ้าเมือง และลูกหลานที่เก่ง และมีความสามารถ ได้สร้างความเจริญให้แก่จังหวัดระนอง และรวมถึงหัวเมืองต่างๆ ในภาคใต้มาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี “บิดาแห่งยางพาราไทย” นอกจากนำยางพาราเข้ามาปลูกในประเทศไทยเป็นต้นแรกแล้ว ยังได้ส่งนักเรียนไปเรียนวิธีปลูกยางเพื่อมาสอนประชาชนอีกด้วย ซึ่งนักเรียนของท่านที่ส่งไปก็ล้วนแต่เป็นเจ้าเมือง นายอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้านทั้งสิ้น พร้อมกันนั้น ท่านก็สั่งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพาะพันธุ์พารายางนำไปแจกจ่าย และส่งเสริมให้ราษฎรปลูกทั่วไป โดยในยุคนั้น อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคตื่นยาง และชาวบ้านเรียกยางพารานี้ว่า “ยางเทศา” ต่อมา ราษฎรได้นำเข้ามาปลูกเป็นสวนยางมากขึ้น และได้มีการขยายพื้นที่ปลูกยางไปทั่วประเทศไทย จนถึงปัจจุบันยางพารานับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนคนไทยมากมาย ชาวระนองจึงได้พร้อมใจกันจัดงานดังกล่าวขึ้นเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีที่มีต่อชาวระนอง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น