xs
xsm
sm
md
lg

การกู้ครั้งนี้...ควรศึกษากรณีไซปรัส / บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง  นะแส
 
การที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทเข้าที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 28-29 มี.ค. นี้โดยยกเอาเรื่องการลงทุน และการพัฒนาประเทศมาเป็นข้ออ้างต่อประชาชน ทั้งที่เงินกู้จำนวน 2.2 ล้านล้านบาท เป็นภาระผูกพันกับคนไทยทั้งประเทศ 64 ล้านคน ที่ต้องแบกรับหนี้สินไป 50 ปี ในสถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ รัฐบาลกำลังคิดที่จะเอาประเทศมาค้ำประกันความมั่นคงของตัวเอง หรือเตรียมกินรวบครั้งสุดท้ายของพวกที่คิดว่าชาติไม่มีความหมายสำหรับพวกเขา กรณีเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไซปรัส น่าจะทำให้คนไทยได้หันมาตระหนัก และสนใจอย่างจริงจัง ว่าประเทศสามารถพังครืนลงได้ง่ายๆ ด้วยระบบการเงินของประเทศที่เป็นหนี้ล้นพ้นตัว ในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงเช่นนี้ ในที่สุดหากเกิดกรณีเช่นเดียวกับประเทศไซปรัสใครจะรับผิดชอบ
 
“ล่าสุด สถาบันเอสแอนด์พี สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไซปรัสลงจากทริปเปิลซีบวก อยู่ที่ทริปเปิลซี โดยให้ความเห็นว่า ไซปรัสมีความเสี่ยงต่อการผิดชำระหนี้สิน ตั้งแต่ไซปรัสประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็เริ่มมีกระแสข่าวลือสร้างความสับสนเกี่ยวกับอนาคตของธนาคารป็อปปูลาร์ และไซปรัสแบงก์ ซึ่งจุดชนวนให้พนักงานธนาคารมีความวิตกกังวล โดยมีบางคนเชื่อว่า ธนาคารอาจถูกขายกิจการ และประชาชนอาจแห่ถอนเงินออกจากธนาคารวุ่นวายทั่วกรุงนิโกเซีย”
 
“ขณะที่ชาวไซปรัสจำนวนมากยังแค่แห่ไปถอนเงินตามตู้กดเงินสดอัตโนมัติทั่วกรุงนิโกเซีย เพราะเกิดข่าวลือว่า ธนาคารไลก้า ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของไซปรัส กำลังจะปิดกิจการ เนื่องจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง แม้ธนาคารกลางของไซปรัสจะออกมาปฏิเสธ ก่อนหน้านี้ รัฐสภาไซปรัสไม่รับรองตามแผนระดมทุนก่อนนั้นที่คิดจะหักภาษีถึงร้อยละ 10 ของบัญชีเงินฝากธนาคารในไซปรัส ขณะที่ใกล้เข้าสู่ภาวะล้มละลาย รัฐบาลไม่สามารถชำระหนี้ได้ และไซปรัสอาจต้องถูกขับออกจากกลุ่มยูโรโซน ธนาคารในไซปรัสปิดทำการมาตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ และจะเปิดให้บริการได้อย่างเร็วที่สุดในวันอังคาร”
 
“ด้านทางการไซปรัสยังปิดบริการธนาคารต่อไปในสัปดาห์นี้จนถึงวันอังคารหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้คนแห่ถอนเงิน และเป็นหลักประกันให้ได้รับเงินกู้พยุงเศรษฐกิจที่ใกล้ล้มละลาย ขณะที่รัฐบาลหารือร่างแผนสองเพื่อกอบกู้ประเทศ แต่การกระทำดังกล่าวยิ่งสร้างปัญหาให้แก่บริษัทต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกอยู่แล้ว เนื่องจากธุรกิจประสบภาวะชะงักงันไม่สามารถประกอบธุรกรรมทางการเงินได้”
 
ในสถานการณ์ทางการเงินของไซปรัสกำลังย่ำแย่ลงทุกขณะในตอนนี้ ธนาคารกลางยุโรปได้ยื่นเวลาให้ถึงวันจันทร์ (25 มีนาคม 2556) สำหรับการยืดชีวิตธนาคารต่างๆ ของไซปรัส หากการเจรจาระหว่างประเทศกลุ่มผู้ใช้เงินยูโร และไซปรัสไม่ได้ผล การเงินของไซปรัสจะต้องล้มละลายทั้งระบบ ซึ่งอาจนำไปสู่การล้มละลายของประเทศในที่สุด นั่นหมายถึงลูกค้าธนาคารทั้งหมดจะสูญเสียเงินในบัญชี และจำนวนคนตกงานจะเพิ่มมากขึ้นนับจำนวนไม่ถ้วน และเพื่อไม่ให้ลูกค้าถอนเงิน หรือโอนเงินของตนจากธนาคารไปยังธนาคารในต่างประเทศ ธนาคารกลางของไซปรัสได้ปิดทำการตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคมเป็นต้นมา ซึ่งมาตรการดังกล่าวเพิ่งนำมาบังคับใช้ ในกลุ่มประเทศที่ใช้เงินยูโรเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
 
ถึงวันนี้ ประเทศไซปรัส ต้องการเงิน 15,800 ล้านยูโร เพื่อนำมาช่วยพยุงกิจการของธนาคารหลายแห่งที่เต็มไปด้วยภาระหนี้สิน รวมถึงค้ำยันสถานะทางการเงินของรัฐบาล หากไม่มีเงินก้อนนี้ ธนาคารของไซปรัสหลายแห่งอาจล้มละลาย สถานะทางการเงินของรัฐบาลอาจจะย่ำแย่ ชาติสมาชิกยูโรโซน และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ให้สัญญาว่า จะให้เงินกู้ช่วยเหลือ 10,000 ล้านยูโรแก่ไซปรัส หากว่าไซปรัสสามารถหาเงินส่วนที่เหลือมาได้ ไซปรัส จึงวางแผนการที่จะหาเงิน 5,800 ล้านยูโร จากการบังคับเก็บภาษีบัญชีเงินฝาก
 
ที่ผ่านมา ธนาคารต่างๆ ของไซปรัสถูกผลักดันให้เติบโตขึ้นในลักษณะฟองสบู่เป็นเวลาหลายปี จนธุรกิจการเงินกลายเป็นธุรกิจที่เจริญเติบโต หากแต่ไม่ได้เป็นรูปแบบธุรกิจที่เอื้อประโยชน์แก่ประเทศมากนัก เพราะนักลงทุน (อย่างน้อยที่สุด 30 พันล้านยูโรมาจากชาวรัสเซียที่ร่ำรวย) ซึ่งรัฐบาลไซปรัสได้หลอกล่อเข้ามาด้วยอัตราดอกเบี้ยสูง และภาษีต่ำ จนทำให้ 700 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GNP) มาจากการลงทุนของลูกค้าธนาคาร (40 เปอร์เซ็นต์เป็นลูกค้าที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ใช้เงินสกุลยูโร)
 
ไซปรัสได้วางหลักเกณฑ์ไว้คร่าวๆ คือ ผู้มียอดเงินฝากกับธนาคารกลางของไซปรัสตั้งแต่ 100,000 ยูโรขึ้นไป บังคับหักภาษีสูงสุด 20 เปอร์เซ็นต์ ผู้มียอดเงินฝากกับธนาคารกับธนาคารอื่นๆ ตั้งแต่ 100,000 ยูโร เพิ่มภาษีขึ้นอีก 4 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบัน ธนาคารกลางของไซปรัสมียอดเงินฝาก 68 พันล้านยูโร โดย 38 พันล้านยูโร เป็นเงินฝากจากบัญชีที่มียอดเงินสูงกว่า 100,000 ยูโรเพื่อกอบกู้ภาวะการเงินของประเทศให้รอดพ้นต่อความเสี่ยงจากกการล้มละลาย การบังคับเก็บภาษีจากลูกค้าธนาคารอัตราที่สูงขึ้น หรือหักยอดเงินฝากของลูกค้าจากธนาคาร จึงเป็นทางออกแต่ก็ได้สร้างความโกลาหลให้เกิดขึ้นในประเทศที่ยังหาทางลงไม่เจอ
 
บาดแผลของประเทศจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ยังไม่แห้งสนิท การทุจริตของคนในรัฐบาลในยุคนั้น ความไม่เชื่อมั่นในเหล่านักการเมืองที่กุมกลไกบริหารประเทศ เพราะความไม่โปร่งใส และไร้มาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพจนไม่เป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนได้ในขณะนี้ รวมไปถึงความแตกแยกในสังคมทั้งในทางการเมือง และเป้าหมายทิศทางของการพัฒนาประเทศยังไม่ลงตัว การที่รัฐบาลจะเร่งนำร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท เข้าที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 28-29 มี.ค.นี้ จึงควรไตร่ตรองให้รอบคอบ กรณีไซปรัสน่าจะพอทำให้ท่าน ส.ส.ผู้ทรงเกียรติทั้งหลายได้คิดถึงความเปราะบางของบ้านเมือง ผมละหวั่นใจกับ พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทครั้งนี้จริงๆ ครับ เกรงว่าในอนาคตประเทศของเราจะเจอวิบากกรรมที่ไม่ต่างจากไซปรัสในวันนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น