xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เสียหายคดีอาญาเฮ กรมคุ้มครองสิทธิเล็งมอบเงินช่วยเหลือทุกกรณี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สุราษฎร์ธานี - อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ลงพื้นที่มอบเงินเยียวยาช่วยเหลือผู้เสียหายคดีอาญา จากกรณีถูกข่มขืน ถูกลูกหลง ถูกฆ่า ถูกทำร้าย โดยยึดคำตัดสินของศาลมาประกอบการพิจารณา

วันนี้ (18 มี.ค.) ที่บริเวณ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี พล.ต.ต.สุดใจ ญาณรัตน์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 8 พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มอบเงินเยียวยาช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายในคดีอาญา ตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ให้แก่ผู้เสียหาย และทายาทในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และพื้นที่ใกล้เคียง จำนวน 13 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,545,860 บาท ซึ่ง 12 ราย เป็นผู้เสียชีวิตจากการกระทำผิดอาญาของผู้อื่นโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีความ รายละ 100,000 บาท ส่วนกรณีของ นายส้าเหตุ นิ่งราวี ถูกพนักงานอัยการจังหวัดพังงา ฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดพังงา เรื่อง ข่มขืนกระทำชำเรา ชิงทรัพย์ ซึ่งต่อมา ศาลฎีกาได้มีคำสั่งพิพากษายกฟ้อง เหตุเกิดที่ ต.ทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา จะได้รับเงินเยียวยา จำนวน 345,860 บาท

พ.ต.อ.ดร.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าวว่า ผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดทางอาญาของผู้อื่นโดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง สามารถขอรับค่าตอบแทนจากรัฐได้ ในกรณีได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย จิตใจ หรือถึงแก่ความตายเนื่องจากถูกทำร้าย ถูกฆ่าตาย ถูกลูกหลง ถูกทำให้แท้งลูก ถูกข่มขืน ถูกกระทำอนาจาร ได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือตายจากการกระทำโดยประมาทของผู้อื่น เด็กและคนชรา คนป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และถูกทอดทิ้ง

ทั้งนี้ ผู้เสียหาย หรือญาติจะต้องแจ้งความเพื่อดำเนินคดีต่อพนักงานตำรวจในท้องที่เกิดเหตุ หลังจากนั้น ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลพร้อมตรวจรักษา โดยกรณีการตายให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอให้ออกใบมรณบัตร ประกอบกับต้องรวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องยื่นคำขอรับเงินค่าตอบแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการกระทำผิด

สิทธิการได้รับเงินช่วยเหลือของผู้เสียหายในกรณีทั่วไป ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ อัตราวันละไม่เกิน 200 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ค่าตอบแทนความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 30,000 บาท

จำเลยขอรับค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายจากรัฐได้ในกรณีถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา และถูกคุมขังที่ศาลพิจารณาคดี ต่อมา ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้กระทำผิด และมีการถอนฟ้องระหว่างการดำเนินคดี หรือมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ยกฟ้องจำเลย โดยข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้กระทำความผิด

ให้จำเลยติดต่อเจ้าพนักงานศาลที่อ่านคำพิพากษาเพื่อขอคัดสำเนาเอกสารโดยให้เจ้าหน้าที่รับรองสำเนาถูกต้อง ประกอบด้วย สำเนาคำพิพากษาของศาลทุกศาลที่มีคำพิพากษา สำเนาหมายขัง หมายจำคุก และหมายปล่อย สำเนาใบแต่งทนายความ หนังสือรับรองคดีถึงที่สุด สำเนาหนังสือสัญญาว่าจ้างว่าคดีความ กรณีที่ไม่ใช่ทนาย ต้องรวบรมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ยื่นคำขอรับเงินค่าตอบแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง หรือศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุด

นอกจากนี้ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิกล่าวต่อว่า สิทธิการได้รับเงินช่วยเหลือของจำเลยในกรณีทั่วไป ค่าทดแทนถูกคุมขัง อัตราวันละ 200 บาท ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ความเจ็บป่วยต้องเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ความเจ็บป่ายต้องเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี ค่าขาดประโยชน์ทำมาหารายได้ในระหว่างถูกดำเนินคดีอัตราวันละ 200 บาท นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี เช่น ค่าทนายเท่าที่จ่ายจริงในอัตราไม่เกินกฎกระทรวงกำหนด ค่าใช้จ่ายอื่นเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท หากเกิดการเสียชีวิตได้ค่าทดแทนไม่เกิน 100,000 บาท ค่าทำศพ จำนวน 20,000 บาท ค่าขาดอุปการะเลี้ยงดู จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท ค่าความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรแต่ไม่เกิน 30,000 บาท

ผู้เสียหายสามารถยื่นคำขอได้ที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ในต่างจังหวัดสามารถยื่นคำขอได้ที่ สำนักงานบังคับคดี เรือนจำจังหวัด ทัณฑสถาน สถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน สำนักงานคุมประพฤติ และสำนักงานยุติธรรมทั่วประเทศ

 
 



กำลังโหลดความคิดเห็น