xs
xsm
sm
md
lg

เขาว่าแสงแดดเมืองไทยไม่เข้มพอที่จะทำไฟฟ้าได้! / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
คุณรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร ได้เล่าให้ฟังว่า ในช่วงที่รัฐมนตรีพลังงานออกมาให้ข่าวเรื่อง “วิกฤตไฟฟ้า” ในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้ หลังจากที่เธอได้โพสต์ภาพแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าที่อยู่ริมทางรถไฟในสหภาพยุโรปบน facebook ปรากฏว่า มีคนเข้าไปดูกว่าหนึ่งแสนคน มีการแสดงความเห็นต่างๆ นานา แต่หนึ่งความเห็นที่น่าสนใจคือ “แสงแดดในเมืองไทยมีความเข้มไม่พอที่จะนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้”

บทความนี้ นอกจากจะแสดงหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ข้อกล่าวหา (ที่ตลก และฝืนสามัญสำนึก) ดังกล่าวแล้ว ยังจะเสนอความก้าวหน้าของบางประเทศในเรื่องดังกล่าว พร้อมทั้งกลไกสำคัญที่จะทำให้พลังงานหมุนเวียน (ซึ่งแสงแดดเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานหมุนเวียน) มีความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ สรุปก็คือ ผมจะนำเสนอ 3 ประเด็น ดังต่อไปนี้

ประเด็นแรก มาเริ่มกันที่ความเข้มของแสงแดด หรือพลังงานจากแสงอาทิตย์บนผิวโลกของประเทศต่างๆ ทั่วโลกกันก่อนครับ ภาพข้างล่างนี้เป็นแผนที่แสดงความเข้มข้นของพลังงานแสงอาทิตย์บนผิวโลกต่อพื้นที่หนึ่งตารางเมตร

กรุณาอย่าตกใจกับรายละเอียดบนแผนที่นี้นะครับ มันไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่เรามักจะกลัวกัน
 


 

ก่อนอื่นโปรดสังเกตสีที่ใช้ระบายบนแผนที่นะครับ ทั้งหมดมีอยู่ 7 แถบสี (พร้อมดูรหัสบนมุมขวามือด้านบนของรูป) มีโทนสีน้ำตาลเข้ม อ่อน แล้วไล่มาเขียวอ่อน เขียวเข้ม จนถึงสีฟ้าอ่อน และสีฟ้าเข้ม

บริเวณที่ระบายด้วยสีน้ำตาลเข้ม คือ บริเวณที่มีพลังงานแสงแดดเข้มที่สุด โดยคิดเฉลี่ยตลอดทั้งปี ในขณะที่ระบายด้วยสีฟ้าเข้มจะได้รับพลังงานน้อยที่สุด


คราวนี้มาดูบริเวณพื้นที่ประเทศไทย ปรากฏว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทยมีความเข้มของพลังงานแสงอาทิตย์มากเป็นอันดับ 2 ของโลก ในขณะที่ในภาคใต้ของประเทศไทยได้รับพลังงานแสงอาทิตย์มากเป็นอันดับที่ 4 (อาจเพราะมีฝนตกมาก)
 
ในขณะที่ประเทศเยอรมนี (ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มากที่สุดในโลก) มีความเข้มของแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทยเสียอีกคือ อยู่ในกลุ่มที่ 4 และ 5 เสียด้วยซ้ำ โปรดสังเกตอีกนิดนะครับว่า สหรัฐอเมริกา มีพื้นที่บางส่วนที่มีความเข้มข้นของพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในระดับสูงที่สุดของโลก
 
ตกลงความเห็นที่เชิงเป็นข้อกล่าวหาที่คุณรสนาได้รับในประเด็นที่หนึ่งนั้นไม่เป็นความจริงแต่ประการใดนะครับ ตรงกันข้าม เรามีแสงแดดดีเป็นอันดับ 2 และ 3 ของโลกเสียด้วยซ้ำ

ประเด็นที่สอง ความก้าวหน้าของบางประเทศ ขอเริ่มต้นที่เยอรมนีก่อนนะครับ

ในปี 2555 ทั้งๆ ที่เยอรมนีถูกจัดเป็นประเทศที่มีพลังงานแสงแดดอยู่ในอันดับที่ 4 และ 5 ของโลก แต่ก็สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงแดดได้ถึง 28,500 ล้านหน่วย (ที่มา http://www.volker-quaschning.de/datserv/ren-Strom-D/index_e.php) หรือประมาณ 18% ของที่ประเทศไทยใช้ซึ่งต้องถือว่าเยอะมากๆ

ในการประชุมสมัชชาวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค (13-15 มีนาคม 2556) ผมได้นำเสนอในเรื่องนี้ด้วย ก็มีคนตั้งข้อกังวล 3 ประการคือ (1) การทำแผงโซลาร์เซลล์ต้องใช้พื้นที่เยอะมาก (2) ต้นทุนการผลิตยังแพง หน่วยละ 10 บาท และ (3) เป็นเทคโนโลยีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ อยากให้ประเทศไทยส่งเสริมการวิจัยเพื่อพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์เป็นของตนเอง

ผมไม่ได้ตอบทุกคำถาม แต่ผมได้ตั้งคำถามกลับไปว่า ในโลกปัจจุบันนี้ ประเทศไทยผลิตอะไรได้เองบ้าง และใครเป็นเจ้าของ ตอนที่น้ำท่วมประเทศไทยปี 54 เราพบว่า อุปกรณ์ฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ 60% ของโลกผลิตในประเทศไทย เมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ ชาวญี่ปุ่นไม่มีน้ำยาบ้วนปากมา 4 วัน เพราะโรงงานในประเทศไทยถูกน้ำท่วม คำถามก็คือ โรงงานดังกล่าวเป็นของใคร ไม่ใช่ของคนไทยหรอก

ความห่วงใยดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีมาก (ถ้าสามารถทำได้) แต่ในเรื่องพลังงานสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากๆ ก็คือ ชนิดของเชื้อเพลิงว่า มันก่อให้เกิดมลพิษต่อโลก และชุมชนหรือไม่ รวมถึงการกระจายรายได้ด้วย

ในเรื่องต้นทุนที่แพงนั้น งานวิจัยของมหาวิทยาลัย Duke ในบางรัฐของสหรัฐอเมริกาพบว่า ปัจจุบันต้นทุนไฟฟ้าจากแสงแดดมีราคาถูกกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว และจะถูกลงไปอีกเรื่อยๆ ในขณะที่ต้นทุนนิวเคลียร์จะยิ่งแพงขึ้นไปอีก (บทความเก่าของผมเคยกล่าวถึง)

ในระหว่างที่เขียนบทความนี้ เพื่อนใน facebook ของผมส่งข้อมูลมาให้พบว่า ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแสงแดดมีจำนวนเท่ากับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เดินเครื่องเต็มที่ถึง 22 โรง ผมนำภาพมาลงเป็นหลักฐานด้วย
 

 

ในข่าวชิ้นเดียวกันนี้บอกว่า ตลาดแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐอเมริกามีการเติบโตถึง 76% เมื่อเทียบกับปี 2554 ในขณะที่ต้นทุนการผลิตกลับลดลงถึง 27% ในรัฐ Maryland ลดลงถึง 33%

ผมนำภาพมาลงในที่นี้ก็เพื่อให้ท่านที่สนใจสามารถค้นหาความรู้เพิ่มเติมได้จากอินเทอร์เน็ต
 


 
ผมยังไม่ได้ตอบข้อกังวลของที่ประชุมว่า จะเอาพื้นที่ที่ไหนมาทำแผงโซลาร์เซลล์ ผมได้ตอบไปว่าทางที่ดีที่สุดก็คือ การทำบนหลังคาบ้าน อาคารสถานที่ซึ่งเรามีมากมาย

ผมได้เล่าให้ฟังว่า ในประเทศสเปนมีกฎหมายออกมาใหม่ว่า ศูนย์การค้าใหม่ทุกแห่งต้องติดแผงโซลาร์เซลล์ โรงพยาบาลทุกโรงต้องมีแผงต้มน้ำร้อนด้วยแสงแดดบนหลังคา คล้ายๆ กับบังคับว่าบ้านทุกหลังต้องมีส้วม

ขอย้อนมาที่แผนที่พลังงานแสงแดดโลกอีกครั้งครับ ถ้าเราเอาเม็ดถั่วเขียวไปวางบนแผนที่ดังกล่าวเพียง 6 เม็ด แล้วนำพื้นที่จริงขนาดเท่าเม็ดถั่วเขียวในแผนที่ไปสร้างแผงโซลาร์เซลล์ จากข้อมูลที่ผมค้นได้พบว่า พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้จะเพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ทั้งโลกทั้งปีในปัจจุบัน

ดังนั้น ไม่ทราบจะบอกว่าอย่างไรดี

ประเด็นที่สาม กลไกสำคัญที่จะทำให้พลังงานหมุนเวียนมีความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ

เรื่องนี้ต้องขอยกประเทศเยอรมนีเป็นตัวอย่างอีกแล้วครับ เขาได้ออกกฎหมายที่เรียกว่า “กฎหมายเพื่อให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนเป็นอันดับแรก (Law for the Priority of Renewable Energies)”

สาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าวมี 3 ข้อ คือ ขาดข้อใดข้อหนึ่งจะเพี้ยนทันที

ข้อที่ 1 ใครก็ตามที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถป้อน (Feed In) กระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ก่อนและไม่จำกัดจำนวน

ประเทศไทยเรามีระบบโควตาครับ เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ใกล้ๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กทม.) ได้ลงทุนติดตั้งด้วยเงินลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท แต่ทางการไฟฟ้านครหลวงไม่รับซื้อ แต่รับไฟฟ้าไปฟรีๆ ในวันหยุดทำการ

เจ้าของโรงงานหีบน้ำมันปาล์มที่สุราษฎร์ธานี พยายามที่จะทำโรงไฟฟ้าชีวมวลจากของเสีย แต่ปรากฏว่า การไฟฟ้าภูมิภาคไม่รับซื้อ โดยอ้างว่า “เรามีโควตาแค่ 3 ราย คุณเป็นรายที่ 4”

ข้อที่ 2 เป็นสัญญาระยะยาวประมาณ 20-25 ปี สัญญาในประเทศไทยประมาณ 5 ปี แล้วใครจะกล้ามาลงทุนหากไม่ใช่พวกเดียวกันกับผู้มีอำนาจอนุญาต

ข้อที่ 3 ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น (บ้าง) ให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ

ขณะนี้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (องค์การตามรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่รัฐบาลนี้ไม่ยอมออกกฎหมายให้) กำลังทำข้อเสนอให้แก่เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศร่วมกันผลักดันให้เป็นนโยบายครับ

ช่วยกันทำความเข้าใจ ช่วยกันเสนอ และผลักดันนะครับ

สรุป นักเคลื่อนไหวเรื่องพลังงานระดับโลกคนหนึ่งกล่าวว่า ความเป็นไปได้ของพลังงานหมุนเวียน (เขากล่าวถึงเฉพาะลมซึ่งก็คล้ายกับกรณีแสงแดด) ว่า หนึ่ง ไม่ได้ขึ้นกับความเร็วลม สอง ไม่ได้ขึ้นกับเทคโนโลยี สาม ไม่ได้ขึ้นกับต้นทุนการผลิต แต่ สี่ ขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลที่สมคบกับพ่อค้าพลังงานไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และนิวเคลียร์ ร่วมกันผูกขาดทั้งเชื้อเพลิง และนโยบาย

อ้อ ถ้าอยากให้มีการใช้พลังงานแสงแดดกันมากๆ เร็วๆ ทางเดียวที่ง่ายที่สุด คือ การอนุญาตให้มีการออกโฉนดบนดวงอาทิตย์ แล้วเมื่อพ่อค้าเหล่านี้ได้โฉนดบนดวงอาทิตย์แล้ว เขาจะส่งเสริมการใช้แสงแดดอย่างแน่นอน เชื่อไหม?

กำลังโหลดความคิดเห็น