ตรัง - พบป่าไม้ใน จ.ตรัง เข้าขั้นวิกฤต ถูกบุกรุกจนเหลือแค่ร้อยละ 21.74 ผู้ว่าฯ ตรังจี้ดูแล 5 พื้นที่ล่อแหลม พร้อมตามติดคดีสำคัญที่นายทุนเข้าไปจัดสรรขายที่ดินสร้างรีสอร์ต และบังกะโล บริเวณริมชายหาดปากเมง และเกาะมุกด์
นายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าระดับ จ.ตรัง ได้ร่วมประชุมหารือเพื่อติดตามผลความคืบหน้าการดำเนินงาน และปัญหาอุปสรรคการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งจากการตรวจวิเคราะห์พื้นที่ป่าไม้ด้วยภาพถ่ายดาวเทียม เมื่อปี 2553 ของกรมป่าไม้ พบว่า จ.ตรัง มีพื้นที่ป่าธรรมชาติเหลืออยู่ประมาณ 668,150 ไร่ หรือร้อยละ 21.74 ของพื้นที่จังหวัด จึงนับเป็นสถานการณ์ที่อยู่ในภาวะวิกฤต เพราะตามหลักวิชาการแล้วจะต้องมีพื้นที่ป่าธรรมชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่จังหวัด หรือประมาณ 1,235,250 ไร่
สำหรับพื้นที่ป่าไม้ของ จ.ตรัง ที่ยังคงมีสถานการณ์อ่อนไหว หรือล่อแหลมซึ่งยังอยู่ในภาวะความสี่ยงต่อการถูกบุกรุกทำลาย และมีสถิติคดีป่าไม้ค่อนข้างสูง หรือต่อเนื่อง โดยมีจำนวน 5 พื้นที่ คือ
1.ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ท้องที่ อ.สิเกา และ อ.กันตัง รวม 6 ตำบล
2.ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ท้องที่ อ.นาโยง อ.เมืองตรัง อ.ห้วยยอด และ อ.รัษฎา รวม 9 ตำบล
3.ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ท้องที่ อ.ปะเหลียน อ.ย่านตาขาว และ อ.นาโยง รวม 5 ตำบล
4.ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม ท้องที่ อ.วังวิเศษ และ อ.สิเกา รวม 2 ตำบล
5.ในเขตป่าสงวนแห่งชาติในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ท้องที่ อ.สิเกา อ.วังวิเศษ อ.ห้วยยอด อ.ปะเหลียน และ อ.กันตัง รวม 8 ตำบล
โดยขณะนี้ จ.ตรัง ได้มีมาตรการ และแนวทางดำเนินงานเพื่อปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าไม้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการใน 5 แนวทาง คือ การตรวจลาดตระเวนเฝ้าระวังป่าอย่างต่อเนื่อง และตรวจยึดจับกุมดำเนินคดีอย่างเคร่งครัดทุกระดับชั้นการสอบสวน และมอบหมายกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต.ในท้องที่ ติดตามสถานการณ์ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง การใช้กฎหมายในการรื้อถอนพืชผลอาสินสิ่งปลูกสร้าง เพื่อป้องปรามผู้บุกรุกป่าและยึดพื้นที่คืน การฟื้นฟูปลูกป่า สร้างฝายชะลอน้ำ รณรงค์ส่งเสริมปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะ และชุมชน การส่งเสริมจัดทำป่าชุมชน โดยเฉพาะพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เหลืออยู่ และเสี่ยงต่อการถูกบุกรุกทำลายในอนาคต และการประชาสัมพันธ์สร้างเครือข่ายพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ จัดตั้งกลุ่มราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า ฝึกอบรมราษฎร ผู้นำชุมชน เยาวชน และนักเรียน
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าระดับ จ.ตรัง ยังได้หารือเพื่อติดตามการดำเนินคดีป่าไม้รายใหญ่ที่มีผู้มีอิทธิพล และที่สาธารณชนให้ความสนใจ โดยเฉพาะคดีการบุกรุกพื้นที่ป่าหน้าโรงเรียนบ้านปากเมง ม.4 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา ที่มีนายทุนประกาศจัดสรรขายที่ดิน จำนวน 20 ไร่ มูลค่า 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่ดินของ อบจ.ตรัง และมีข้อพิพาทพิสูจน์สิทธิครอบครองกับอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม
รวมทั้งคดีบุกรุกพื้นที่ป่าริมชายหาดปากเมง ม.4 ต.ไม้ฝาด เพื่อสร้างรีสอร์ต มูลค่า 20 ล้านบาท คดีบุกรุกพื้นที่ป่าบนเกาะมุกด์ ม.2 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จำนวน 34 ไร่ เพื่อสร้างบังกะโล และคดีบุกรุกพื้นที่ป่าอื่นๆ อีก 3 คดี ซึ่งอยู่ในเขตของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และป่าสงวนแห่งชาติ