สตูล - พบยาเสียสาวตัวใหม่ชื่อ “ฟีนาซีแพม” ซึ่งยังไม่ได้จัดเป็นสารควบคุมในประเทศไทย ระบาดในพื้นที่ภาคใต้ โดยออกฤทธิ์แรงกว่า “อัลปราโซแลม” ถึง 10 เท่า ผู้กินเข้าไปจะมีอาการซึม มึนงง สูญเสียความจำชั่วขณะ เตือนหญิงสาวอาจเสี่ยงต่อการถูกข่มขืนโดยไม่รู้ตัว
วันนี้ (11 มี.ค.) ที่ห้องประชุมสตาริน รีสอร์ท อ.เมือง จ.สตูล นายอุดมศักดิ์ สุดมาตร รองผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง จัดเสวนาให้ความรู้ เรื่องพิษภัยยาเสพติดในปัจจุบันของประเทศไทยกับการแพร่ระบาดของยาเสพติด พร้อมเสริมสร้างศักยภาพเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานแนวทางตรวจพิสูจน์หาสารเสพติดในปัสสาวะของผู้ติดยาเสพติด โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด และเจ้าหน้าที่เรือนจำ จ.สตูล กว่า 50 คนเข้าร่วม
ทั้งนี้ เนื่องจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง มีความเป็นห่วงจึงเร่งสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สสจ. เฝ้าจับตาจับกุมกวาดล้างอย่างใกล้ชิด หวั่นกลุ่มมิจฉาชีพนำไปใช้มอมหญิงสาวเพื่อข่มขืน หรือนำไปรูดทรัพย์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยได้เชิญนักวิชาการที่มีความรู้เรื่องพิษภัยยาเสพติดมาให้ความรู้เรื่องพิษภัยยาเสพติด พร้อมทั้งเสริมความรู้ให้แก่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด
ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ พบว่ามียาเสียสาวตัวใหม่เกิดขึ้น คือ ฟีนาซีแพม เป็นยานอนหลับชนิดใหม่ที่กำลังระบาดอย่างหนัก โดยมีประสิทธิภาพออกฤทธิ์แรงกว่าปกติถึง 10 เท่า และแรงกว่า อัลปราโซแลม หรือยาเสียสาวที่พบ และจับกุมบ่อย และถ้าผสมดื่มกินกับเหล้าอาจเสี่ยงถึงเสียชีวิตได้
ด้าน น.ส.ณัฐชา ด้วงรัก เภสัชกรปฏิบัติการฯ ระบุว่า ขณะนี้ฟีนาซีแพมเป็นยาเสียสาวตัวใหม่ที่น่ากลัวที่สุดในพื้นที่ภาคใต้ของไทย และทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12/1 ตรัง กำลังตรวจสอบที่มาของยาชนิดนี้ ซึ่งทางการแพทย์ระบุว่า ฟีนาซีแพมยังไม่ได้จัดเป็นสารควบคุมในประเทศไทย จึงขอประกาศเตือนว่ายาชนิดนี้เป็นอันตราย ซึ่งประสิทธิภาพของยาทำให้ผู้ที่กินเข้าไปหลับยาวถึง 10 เท่า หรือหลับนานยาวกว่า 60 ชั่วโมง และผู้กินเข้าไปจะมีอาการซึม มึนงง สับสน สูญเสียการทรงตัว สูญเสียความจำชั่วขณะ และหากหญิงสาวรับประทานเข้าไปอาจเสี่ยงต่อการข่มขืนโดยไม่รู้ตัวได้ และเสี่ยงต่อการถูกรูดทรัพย์ได้ จึงฝากเจ้าหน้าที่ตำรวจช่วยกันตรวจสอบ และกวดขันจับกุม ขณะเดียวกัน ทางสาธารณสุขก็ควรสุ่มตรวจที่ร้านขายยาทั่วไปว่ามีการลักลอบขายหรือไม่
น.ส.ณัฐชา กล่าวอีกว่า จากการค้นคว้าข้อมูลพบว่า ทางการแพทย์ยังไม่มีการระบุแน่ชัด และไม่ได้จัดเป็นสารควบคุมในประเทศไทย ส่วนราคายังไม่ทราบว่าลักลอบจำหน่ายในราคาเม็ดละกี่บาท แต่ที่สำคัญคือ หากมีการระบาดขึ้นจะเป็นอันตรายแก่เหยื่อที่ถูกหลอกให้รับประทาน
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มียาชนิดนี้ไว้ในครอบครองจะถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยผู้ขายมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท ส่วนผู้ผลิตหรือผู้นำเข้ามีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท แต่ไม่สามารถเอาผิดในเรื่องการผสมสารฟีนาซีแพมได้ เนื่องจากสารดังกล่าวไม่ได้เป็นสารควบคุมในประเทศไทย และสหประชาชาติว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาท