xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นฟูนาร้างเดินหน้า ส่งชาวนา 3 จชต.เรียนทำนาภาคกลาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - ศอ.บต.พร้อมเดินหน้าโครงการฟื้นฟูนาร้าง เตรียมพลิกผืนนา 15,000 ไร่ ให้กลับมาสร้างรายได้แก่ชาวนาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ขณะพ่อค้าแม่ค้ารับซื้อผลไม้ต่างถิ่น ย้ายกลับหลังเหตุพ่อค้ารับซื้อผลไม้ถูกยิง

เมื่อวันนี้ (6 ก.พ.) ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. เปิดเผยว่า โครงการฟื้นฟูนาร้างในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เริ่มดำเนินขึ้น และนำเกษตรกรชาวนาในพื้นที่ จำนวน 2 รุ่น ไปเรียนรู้การทำนา และเพิ่มความรู้กระบวนการทำนาจากเกษตรกรในพื้นที่ภาคกลางยังคงดำเนินการต่อไป โดยในวันพรุ่งนี้ (7 ก.พ.) นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระททรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเดินทางลงมาร่วมประชุมรับฟังปัญหา แนวทางการแก้ไข และวางแผนร่วมในการพัฒนา โดยในปี 2556-2557 จะมีการพัฒนาฟื้นฟูนาร้างในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีอยู่กว่า 4-5 หมื่นไร่ ซึ่งจะเริ่มนำพื้นที่นาประมาณ 15,000 ไร่ กลับมาพัฒนา ให้สามารถทำนาได้อีกครั้ง โดยความร่วมมือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมไปถึงพี่น้องเกษตรกรชาวนาในพื้นที่ให้การตอบรับ และมีความประสงค์จะทำนาเพื่อสร้างรายได้ อีกทั้งพี่น้องเกษตรกรชาวนาจากภาคกลางที่ลงมาในพื้นที่เพื่อช่วยสอนวิธีการทำนา เป็นครูช่วยแนะนำการทำนา

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวว่า ทั้งนี้ พื้นที่นาร้างที่เกิดเหตุในจังหวัดปัตตานี ได้ถูกทิ้งร้างมานานกว่า 10 ปี จึงต้องมีการปรับปรุงดินเพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อการทำนา จึงทำให้พี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวรู้สึกขอบคุณชาวนาจากภาคกลางที่ลงมาช่วยเหลือ แม้จะเมื่อมาเกิดเหตุร้ายขึ้นกับเกษตรกรชาวนา ที่ จ.ปัตตานี แต่เสียงจากประชาชนในพื้นที่ก็ยังมีความต้องการที่จะดำเนินโครงการฟื้นฟูนาร้างต่อไป ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ แม้ผู้นำศาสนาก็มีความเข้าใจที่ดี และถือเป็นการดำเนินตามหลักศาสนาที่ถูกต้องในการประกอบอาชีพ

เลขาธิการ ศอ.บต. ยังกล่าวถึงกรณีที่เกิดเหตุกับพ่อค้ารับซื้อผลไม้ จนทำให้ส่งผลกระทบไปถึงเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในพื้นที่เกิดความกลัวต่อสถานการณ์ อีกทั้งราคาค้าขายที่ตกลงเพราะผลกระทบจากสถานการณ์ ว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีผลิตทั้งยางพารา และผลไม้ ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบหลักของพื้นที่ และที่ผ่านมาจะพบว่า พ่อค้าคนกลางไม่กล้าที่จะลงมารับซื้อผลผลิตในพื้นที่ เพราะความเกรงกลัวต่อเหตุการณ์ความรุนแรง ทำให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในพื้นที่ต้องเข้าไปทำการดูแลและยื่นมือให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกร ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นก็ต้องแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้สูญเสีย ซึ่งใครก็ตามที่ไปใช้ความรุนแรง หรือข่มขู่ผู้ที่ประกอบอาชีพมันไม่ใช่สิ่งที่ควรจะกระทำ หลังเกิดเหตุ ทางหน่วยงานความมั่นคงก็ได้เข้ามาหารือร่วมกันในการหามาตรการป้องกันเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และพ่อค้าคนกลาง แต่อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันในการดูแลพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น และจะได้ประกอบอาชีพได้อย่างสะดวก

ขณะเดียวกัน จากการลงพื้นที่สำรวจตลาดรับซื้อผลไม้บริเวณแยกมลายูบางกอก ต.สะเตง อ.เมืองยะลา ก็พบว่า ยังมีเกษตรกร และพ่อค้าแม่ค้าคนกลางมารับซื้อผลไม้ตามปกติ แต่ลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ในพื้นที่ อ.บันนังสตา และ อ.กรงปินัง จ.ยะลา มีชาวบ้านแจ้งว่า พ่อค้าและแม่ค้าคนกลางซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่ได้ย้ายกลับภูมิลำเนาไปหลายรายหลังเกิดเหตุร้ายขึ้นกับพ่อค้ารับซื้อผลไม้ในพื้นที่ อ.กรงปินัง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น