xs
xsm
sm
md
lg

ยะลาเปิดสะพานประวัติศาสตร์ อ.บันนังสตา เป็นแหล่งท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - เปิดสะพานประวัติศาสตร์ อ.บันนังสตา เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งก่อสร้างตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนชาวบันนังสตาตื่นเต้นเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งในอนาคตจะทำเป็นจุดแวะซื้อสินค้าโอทอป และผลิตภัณฑ์ต่างๆ

สำหรับสะพานยีลาปัน เป็นอนุสรณ์สะพานโบราณข้ามแม่น้ำปัตตานี ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 410 บริเวณ กม.35 มีความกว้าง 6 เมตร ยาวกว่า 150 เมตร สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามมหาเอเชียบูรพา ราวปี พ.ศ.2484 โดยสะพานแห่งนี้ทางกองทัพญี่ปุ่นใช้เพื่อเป็นทางผ่านเพื่อขนยุทโธปกรณ์ และกำลังพลไปยังพม่าเพื่อยึดครองอินเดีย แต่ในการคมนาคมในสมัยนั้นไม่สะดวก กองทัพญี่ปุ่นจึงได้มีการสร้างสะพานนี้ขึ้นมา และใช้จนมาถึงปี 2538 แขวงการทาง จ.ยะลา จึงได้สร้างสะพานคอนกรีตขึ้นมาทดแทน เนื่องจากสะพานยีลาปันมีความคับแคบไม่สะดวกในการสัญจรไปมา

นายเอก ยังอภัยย์ ปลัดอำเภอรักษาการนายอำเภอบันนังสตา เปิดเผยว่า ในครั้งนี้มาน้อมรำลึกนึกถึงประวัติศาสตร์ของสะพานยีลาปัน ซึ่งก่อสร้างตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วันนี้ สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น คือ อยากสื่อสารกับพี่น้องประชาชนทั้งพื้นที่อำเภอบันนังสตา และพื้นที่ทั่วไปทั้งประเทศไทยว่า อ.บันนังสตา นั้นมีสิ่งที่สวยงาม มีสะพานประวัติศาสตร์แห่งนี้อยู่ และอยากให้ทุกคนมาเยี่ยมเยียน การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ก็ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากพี่น้องประชาชน ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ทุกหมู่เหล่า และอยากให้คนรู้ว่า อ.บันนังสตา นั้นมีดีกว่าที่ทุกคนคิด และอยากจะก้าวข้ามสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต โดยใช้ศักยภาพ และทุนทุกอย่างที่มีอยู่ในการพัฒนาตนเองให้เกิดขึ้นพร้อมรองรับประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.2558

“วันนี้เรามีกิจกรรมตั้งแต่ในเรื่องของการปั่นจักรยานเพื่อสุขภาพข้ามสะพานยีลาปันแห่งนี้ รวมทั้งการจิบน้ำชา กาแฟในระหว่างส่วนราชการท้องถิ่นท้องที่ ผู้นำศาสนา โดยได้รับเกียรติจากเลขาธิการ ศอ.บต. ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ท่านผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา รวมทั้งพี่น้องประชาชนส่วนราชการทั้งหมด และก็มีพิธีละหมาดฮายัตบนสะพานแห่งนี้ เพื่อให้เกิดสันติสุขต่อการพัฒนาต่อไป พี่น้องประชาชนชาวบันนังสตาอยากที่จะสื่อสารไปยังสื่อมวลชนทุกแขนงว่าอยากจะนำภาพต่างๆ เหล่านี้ออกไปสู่สาธารณชนว่าพวกเรานั้นมีความพร้อม และมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นพื้นที่ที่สันติสุข อยู่ร่วมกันโดยสันติวิธี และเรายังมีศักยภาพในการพัฒนาอีกเยอะแยะที่รอให้พี่น้องประชาชนคนไทยทั่วประเทศนั้นได้มาเยี่ยมเยือน และก็ได้มาสนับสนุนให้กำลังใจต่อไป” นายเอกกล่าว

นายเอกกล่าวต่ออีกว่า คิดว่าสะพานแห่งนี้เหมือนกับการรื้อฟื้นความสำคัญขึ้นมาแล้ว สิ่งที่จะเน้นต่อไป คือ อยากจะทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดพักรถ เป็นจุดที่จะแวะซื้อสินค้าโอทอป ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในพื้นที่ รวมทั้งในเรื่องของแพทย์แผนไทย คือ การนวดฝ่าเท้าเพื่อคลายความเมื่อยล้าจากการเดินทาง รวมทั้งสามารถแวะเข้าห้องน้ำ ประกอบศาสนกิจ นอกจากนั้น สะพานแห่งนี้ยังมีคุณลักษณะพิเศษในเรื่องของการรักษาสุขภาพ ถ้าถอดรองเท้าเดินบนสะพานแห่งนี้จะช่วยในเรื่องของการปวดขา ปวดเข่าปวดข้อได้ ก็ขอเชิญชวนให้มาทดลองดูในโอกาสข้างหน้า และสิ่งที่จะมุ่งเน้นต่อไปก็ คือ เรื่องการใช้สะพานแห่งนี้ในการออกกำลังกาย ซึ่งเรามีชมรม อสม. มีชมรมจักรยาน มีชมรมแอโรบิกอยู่แล้ว ซึ่งจะต่อยอดได้รวมทั้งกิจกรรมสำคัญต่างๆ ก็จะได้ริเริ่มกระทำที่สะพานแห่งนี้ต่อไป

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากประวัติข้อมูลการก่อสร้างสะพานประวัติศาสตร์แห่งนี้ แท้จริงแล้วการก่อสร้างสะพานประวัติศาสตร์แห่งนี้ ได้มีการก่อสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2484 หลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มาราว 10 ปี เป็นสะพานเหล็กที่มีฐานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความยาว 239 เมตร กว้าง 6 เมตร ขณะดำเนินการก่อสร้างเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้างนานกว่า 10 ปี และได้ตั้งชื่อว่า “สะพานหงสกุล” เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่นายถวัลย์ หงสกุล นายช่างแขวงการทางยะลา ซึ่งสะพานแห่งนี้ได้มีการซ่อมแซมบำรุงถึง 2 ครั้ง โดยล่าสุด ได้มีการเสริมพื้นสะพานให้เป็นเหล็กรางผึ้งทั้งหมด เพื่อให้เกิดความคงทนถาวร

และปัจจุบัน กรมทางหลวงได้ห้ามมีการสัญจรผ่านบน “สะพานยีลาปัน” และได้จัดทำป้ายบอกประวัติของสะพานไว้ที่ทางทิศตะวันออกของสะพาน และมีการสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อเป็นการสัญจรผ่านไปยัง อ.บันนังสตา อ.ธารโต และ อ.เบตง จ.ยะลา ไว้บริเวณใกล้เคียงขนานกับ “สะพานยีลาปัน” ที่ผุกร่อน และใช้งานไม่ได้ตามกาลเวลาไว้ทดแทน ซึ่งสะพานประวัติศาสตร์แห่งนี้ไม่ได้ถูกกองทัพญี่ปุ่นสร้างขึ้นตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ และเผยแพร่ข้อมูลออกไป ทำให้ประวัติศาสตร์ของ “สะพานยีลาปัน” แห่งนี้บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น