ยะลา - เยาวชนและเด็กชายแดนใต้ ร่วมสะท้อนแนวคิดในโครงการ “เสียงเด็กเพื่อสันติภาพ” Children Voices for Peace พบว่า สถานการณ์ชายแดนใต้ส่งผลกระทบหลายด้านต่อแนวความคิดของเยาวชน และไม่มั่นใจต่อแนวทางแก้ไขปัญหาของภาครัฐ
วันนี้ (9 ม.ค.) ที่ทีเคปาร์ค ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา กลุ่มเยาวชน และเด็กๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วยผู้ปกครอง รวมไปถึงนักวิชาการ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการ “เสียงเด็กเพื่อสันติภาพ” Children Voices for Peace ซึ่งกลุ่มองค์กรภาคเอกชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และสำนักพิมพ์โพรงกระต่าย และเครือข่ายสังคมออนไลน์ ได้จัดขึ้นเพื่อสะท้อนเสียงของเด็กๆ และเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยมีกิจกรรมการแสดงละครบนเวที การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการเสวนาเสียงสะท้อนของเยาวชนให้แก่ผู้ใหญ่ในพื้นที่ที่เข้าร่วมได้รับฟัง
น.ส.มนัส ลิ้มสุวรรณ ตัวแทนกลุ่ม CVP หรือ Children Voices for Peace ซึ่งร่วมในการจัดกิจกรรมเสียงสะท้อนจากเด็ก และเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ปี 2547 ถึงปัจจุบัน ได้เปิดเผยว่า ต้องการจะให้เด็กๆ ได้ลุกขึ้นมาส่งเสียงเรียกร้องปกป้องตัวเองจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตอนนี้ มาจากทั้งผู้ต่อต้านรัฐ และจากภาครัฐเอง โดยต้องยอมรับว่าเด็กตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เยอะมาก ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี สูญเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงไปแล้วมากถึง 56 คน โดยเฉพาะเหตุการณ์ยิงร้านน้ำชา ที่ทำให้เด็กอายุ 11 เดือนเสียชีวิต มันเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนจิตใจเป็นอย่างมาก จึงทำให้เราคิดว่าต้องมีการทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เด็กในพื้นที่มีความปลอดภัยมากขึ้น จึงได้มีการรวมตัวกันของกลุ่มเด็กๆ เยาวชน และเพื่อนๆ ในสังคมออนไลน์ ที่ทำงานภาคประชาสังคม ระดมทุนบริจาคมาจัดงาน และกิจกรรมเพื่อจะสามารถสะท้อนเสียงของเด็กๆ และเยาวชนในพื้นที่ให้ลุกขึ้นมาสะท้อนปัญหาเพื่อปกป้องตนเอง
“ที่ผ่านมา เด็กๆ และเยาวชนในพื้นที่ไม่กล้าที่จะสะท้อนปัญหา ไม่กล้าที่จะส่งเสียงต่อสิ่งที่พบเจอ หรือต้องการ เนื่องจากว่าเยาวชนและเด็กๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ต่างยึดหลักทางศาสนา เมื่อเกิดอะไรขึ้นก็มักจะคิดว่าเป็นความประสงค์ของพระเจ้า หรือความประสงค์ของอัลเลาะฮ์ แต่เยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งจะเงียบไปโดยปริยายเพราะความหวาดกลัว”
น.ส.มนัส ลิ้มสุวรรณ กล่าวอีกว่า ตนเองมองว่าการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหน เพียงขึ้นมาทำงานแล้วก็จบไปตามวาระ ซึ่งในความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็แฝงด้วยปัญหาของการเมืองด้วยเช่นกัน ไม่ใช่จะมีเพียงความขัดแย้งของผู้ต่อต้านรัฐ กับฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น และอาจจะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่มาใช้พื้นที่เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อตนเอง ดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม ซึ่งที่ผ่านมา ตนเองไม่เคยวาดหวังกับแนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเลย แต่ตนเองก็ไม่ได้สนใจในสิ่งนั้น
เพียงแต่ว่า ในตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นใครที่เกี่ยวข้องกับการเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่ต่อต้านรัฐ หรือฝ่ายเจ้าหน้าที่เองก็ตาม มีคำถามจากเด็กๆ ในพื้นที่ที่สะท้อนจากการเขียนหนังสือระบายความรู้สึกว่า ทำไมมีทหารลงมาปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เยอะแยะ แต่สถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น เหมือนไม่ได้เกิดอะไรขึ้นในทางที่ดีขึ้นเลย เหมือนกับการเกิดเหตุการณ์ยิงกันขึ้น ไม่ห่างจากฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ออกมาช่วยเหลือชาวบ้าน มันหมายความว่าอย่างไร และมันเกิดอะไรขึ้น และหากวันนี้ การดูแลปกป้องให้เกิดความสงบสุขเกิดขึ้นได้จริง กลุ่มภาคองค์กรประชาชน หรือกลุ่มเด็กๆ เยาวชนคงไม่ต้องลุกขึ้นมาส่งเสียงร้องขอความปลอดภัย และสันติสุขให้กลับมาอีกครั้ง ตอนนี้ไม่มีใครปกป้องเราได้นอกจากตัวเราเอง น.ส.มนัสกล่าว
นายสุประวัติ อูมา นักเรียนจากโรงเรียนพัฒนาวิทยา จังหวัดยะลา ซึ่งมีแนวความคิดเกี่ยวกับเมืองสันติภาพ ได้เปิดเผยว่า เมืองสันติภาพที่อยากเห็นในมุมมองของตนเอง อย่างแรกคือ ไม่ต้องการพบเห็นรถทหาร หรือกำลังทหาร หรืออะไรก็ตามที่แสดงให้เห็นว่าเกิดความน่ากลัว ซึ่งคนที่เดินทางมา 3 จังหวัด อย่างแรกที่พบเห็นคือ ด่านตรวจ ทำให้เค้าเหล่านั้นต้องถามว่า ทำไมต้องมีด่าน ซึ่งตนเองเข้าใจว่ามันเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลของเจ้าหน้าที่ แต่หากเป็นไปได้แล้วก็ไม่อยากจะให้เห็นสิ่งนี้ในพื้นที่ เราอยากอยู่อย่างสงบสันติสุขโดยสามารถปกป้องคุมครองตัวเราได้เอง
นายสุประวัติ กล่าวอีกว่า ในการมองแนวทางการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ อย่างแรก รัฐบาลจำเป็นต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่าทุกวันนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดเพราะอะไร ทำไมรัฐบาลไม่สามารถกำจัด หรือจับกุมผู้ก่อการร้ายได้ มันเป็นข้อสงสัยให้แก่หลายๆ คนในพื้นที่ ทั้งๆ ที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเต็มบ้านเต็มเมือง แต่ปัญหาความรุนแรงก็ยังคงเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงขอให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานขอให้ปฏิบัติงานอย่างเต็มที่
ด้าน นายอับดูลกูดุส สมูซอ นักเรียนโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิยะลา สะท้อนว่า ตนเองอยากเห็นบ้านเมืองเป็นเหมือนเมื่อก่อน เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบทำให้สิ่งแวดล้อม คนใน 3 จังหวัด และอีกหลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไป มันทำให้เกิดความหวาดระแวง และต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ทุกวันนี้เยาวชน เด็กในพื้นที่เพียงแค่เห็นทหาร เห็นอาวุธปืน ก็นำไปสู่ให้เกิดความคิดว่านี่คือ ความรุนแรง มันเป็นไปโดยปริยาย ซึ่งตนเองคิดว่า ปัญหาในพื้นที่ถ้าคนในพื้นที่ไม่ช่วยเหลือกัน ไม่ยอมเอามือที่ล้วงกระเป๋าอยู่ออกมาปกป้องบ้านเมือง หรือมาช่วยกันความสันติสุข หรือสันติภาพก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องช่วยกัน ทั้งคนที่มาจากที่อื่น และคนในพื้นที่