โดย...นักข่าวชายขอบ
ภายหลังบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการพลังงานโลกอย่าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด หรือที่มักเรียกกันว่า “เชฟรอนฯ” ประกาศการตัดสินใจยุติการลงทุนก่อสร้างศูนย์สนับสนุนการขุดเจาะปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย โดยเฉพาะในส่วนของท่าเทียบเรือขนส่งวัสดุอุปกรณ์ และคลังเก็บวัสดุ ณ บ้านบางสาร ต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช มูลค่าหลายพันล้านบาท หลังจากที่ได้ใช้เวลาเกือบ 5 ปีในกระบวนการเพื่อเข้าสู่การก่อสร้าง และใช้งาน ท่ามกลางการคัดค้านต่อต้านจากกลุ่มนักอนุรักษ์ชายฝั่งอ่าวท่าศาลา โดยยกเอาวิถีชีวิตประมงชายฝั่งและความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวท่าศาลามาเป็นเหตุผลที่สำคัญเพื่อการปกป้อง ขณะที่ซัปพลายเออร์และนักลงทุนในภาคส่วนต่างๆ หมายมั่นปั้นมือถึงโอกาสก้าวย่างของความเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญครั้งใหญ่ของนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะการลงทุนด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หลังจากที่นครศรีธรรมราชมีภาคการเกษตรเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่เป็นตัวขับเคลื่อน
“สำหรับโครงการนี้ นอกเหนือจากอีไอเอแล้วนั้น เราพิจารณาผลกระทบจากปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อหรือไม่ ขณะเดียวกัน มีทีมวิศวกรศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ มาโดยตลอด สำหรับปัจจัยที่มีการหารือกันคือ เรื่องค่าก่อสร้าง เงินลงทุนต่างๆ เมื่อพิจารณาจาก 5 ปีที่แล้วมาถึงตอนนี้ มีความแตกต่างไปมากหลายเท่าตัว และปัจจัยอื่นๆ ที่ย้ายออกมาจากสงขลาคือ เรื่องความจำกัดของพื้นที่ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ในส่วนนี้ การประชุมกันของผู้บริหาร และผู้ที่ถือหุ้นนำข้อมูลเหล่านี้มาพิจารณา และหากมีการก่อสร้างต้องใช้เวลาอีกหลายปี จะไม่ทันกับการสนับสนุนในอีก 2 ปีข้างหน้า ในขณะที่โครงการแล้วเสร็จอีก 5 ปี ผู้บริหารจึงมีมติที่จะยุติโครงการชอร์เบสแห่งนี้ ซึ่งได้ทยอยแจ้งแก่ทุกฝ่ายทราบ ซึ่งเป็นการตัดสินใจขั้นสุดท้ายที่จะไม่ดำเนินการโครงการนี้ต่อไป ส่วนฐานบินสนับสนุนนั้นยังคงมีอยู่ต่อไป”
นี่เป็นเหตุผลที่สำคัญนำไปสู่การตัดสินใจยุติโครงการของ หทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ได้แถลงอย่างเป็นทางการไปก่อนหน้านี้
หลังจากที่กระแสข่าวนี้สะพัดออกไป หลายภาคส่วนที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของนครศรีธรรมราช มีแนวคิดเห็นที่เป็นไปในทำนองเดียวกัน
บุญทวี ริเริ่มสุนทร ประธานหอการค้านครศรีธรรมราช ยอมรับว่ามันเป็นการเสียโอกาสครั้งสำคัญ โครงการนี้จะทำให้มีเงินหมุนเวียนถึงกว่า 3 หมื่นล้านบาท การจ้างงานที่ตามมาอย่างเป็นระบบ
“ผมคิดว่าความผิดพลาดอยู่ที่รัฐบาล ที่ไม่มีความชัดเจนมากพอ กลายเป็นเวลาที่หายไป โครงการเช่นนี้รัฐบาลและท้องถิ่นต้องชัดเจนถึงผลได้ ผลเสีย นำมาพิจารณา ผู้ประกอบการต้องมีความชัดเจน เป็นความบกพร่องของนโยบายส่วนหนึ่ง ทำให้นักลงทุนเสียโอกาส ส่วนข้อกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น ผมคิดว่ายุคนี้กระบวนการทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าจะช่วยป้องกันได้ ถือเป็นบทเรียนของนักลงทุนที่สำคัญ ในอนาคตระยะยาวนั้นผู้ลงทุนรายใหม่จะต้องระมัดระวัง และจะต้องเพิ่มพื้นที่การสื่อสารกับชาวบ้านให้มากขึ้น ซึ่งต้องบอกว่านครศรีธรรมราชยังพร้อมต้อนรับนักลงทุน” ประธานหอการค้าจังหวัดนครศรีธรรมราชแสดงความเห็น
เช่นเดียวกับ วานิช พันธ์พิพัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมนครศรีธรรมราช บอกว่า นับว่าเป็นเรื่องเสียโอกาสสำหรับนครศรีธรรมราชมาก ที่ผ่านมา การขยายตัวของโอกาสทางเศรษฐกิจนครศรีธรรมราชมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจับจ่ายใช้สอย ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่เข้าใจว่าการยุติโครงการนั้น อาจเป็นปันปัจจัยภายในของเชฟรอนฯ เองก็เป็นได้ ส่วนในพื้นที่เชื่อว่าที่จะรับผลกระทบหลังจากนี้คือ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่จะชะลอตัวลง
ไม่แตกต่างกับนักการธนาคารอย่าง จำนง ชูคลี่ ผู้อำนวยการฝ่ายดูแลสินเชื่อรายใหญ่ ธนาคารกรุงไทย สาขานครศรีธรรมราช ระบุว่า หากบริษัทขนาดใหญ่เช่นนี้ยุติโครงการในพื้นที่ อ.ท่าศาลา เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อนักลงทุน และโอกาสทางเศรษฐกิจของพื้นที่ไปมาก ก่อนหน้านี้ เมื่อเกิดการลงทุนของเชฟรอนฯ นักลงหลายส่วนหันมาสนใจนครศรีธรรมราชมากขึ้น เช่น อสังหาริมทรัพย์ที่มีการเติบโตอย่างน่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ในผลกระทบนั้นยังรวมถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องช็อกแน่ และที่สำคัญก่อนหน้านี้ ราคาประเมินที่ดินสูงขึ้นจากปัจจัยบวกคือ ศูนย์การแพทย์และการลงทุนของเชฟรอนฯ เมื่อไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่เช่นนี้ต่อไปอีกราคาประเมินที่ดินย่อมที่จะลดลงตาม
ส่วนในภาคการบริหารราชการแผ่นดิน วิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช แสดงความเห็นว่า เป็นการเสียโอกาสไปแล้ว ไม่ว่าจะเหตุผลใดก็ตาม ภาพรวมของจังหวัดนครศรีธรรมราชเสียประโยชน์แน่ๆ แต่ยังคงคาดหวังจากกระบวนการใช้จ่ายในส่วนของเจ้าหน้าที่จำนวนมากที่จะสะพัดในพื้นที่จากศูนย์การขนส่งทางอากาศขนาดใหญ่
“ผมคิดว่ามีผลกระทบกับความเชื่อมั่น การแสดงออกของกลุ่มคัดค้านบางครั้งต้องยอมรับว่า ส่งผลกระทบกับบรรยากาศ และความเชื่อมั่นในการลงทุน โดยเฉพาะเรื่องพลังงานที่มีความละเอียดอ่อน ถ้าค้านจนไม่มีพลังงานใช้กันจะทำอย่างไร” เป็นความรู้สึกของผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช
ส่วนภาคประชาชนอย่าง สมศักดิ์ สลาม ประธานชมรมประมงทะเลกลาย ซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่บอกว่า เศรษฐกิจโดยรวมถือว่าหยุดชะงัก ไม่มีความแน่ใจในทิศทางว่าจะไปกันทางไหน ราคาที่ดินโดยรวมซึ่งเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของการพัฒนานั้น ราคาตกวูบ ตอนนี้ที่ดินในพื้นที่ไม่มีใครสนใจที่จะซื้อกัน
“ในมุมชาวบ้านแบบผมนั้น อาจมองได้ 2 แง่ คือการเสียโอกาส หากเชฟรอนฯ มาตั้งโครงการที่นี่จะมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างน้อยสิ่งต่างๆ น่าจะดีขึ้น แต่เมื่อเชฟรอนฯ ไม่มา ชาวบ้านอยู่กัน ทำมาหากินแบบเดิมๆ มีวิถีชีวิตแบบเดิมๆ” เขากล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่อีกมุมหนึ่งของ ทรงวุฒิ พัฒแก้ว จากเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา ที่ร่วมกันขับเคลื่อนคัดค้านโครงการของเชฟรอนฯ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน เขาบอกว่า เศรษฐกิจทางทะเลที่อ่าวทองคำท่าศาลา ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งความอุดมสมบูรณ์ และมีห่วงโซ่เศรษฐกิจต่อเนื่องทั่วทั้งอ่าว เป็นที่อยู่ของกุ้ง หอย ปู ปลา ประกอบกับระบบนิเวศที่เป็นทะเลโคลน ทราย น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม จากแม่น้ำหลายๆ สายไหลลงมารวมตัวกัน สัตว์น้ำจึงชุกชุม ทุกภาคส่วนในท่าศาลาจึงร่วมมือกันปกป้องอ่าวทองคำให้เป็นแหล่งผลิตอาหาร และฐานทุนของชุมชน และร่วมกันต่อต้านโครงการขนาดใหญ่ที่ลงมาในพื้นที่ เพราะต้นทุนทางทะเลที่นี่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของคนท่าศาลา และผู้คนทั้งประเทศ ซึ่งเป็นประโยชน์ทางทรัพยากรที่ยั่งยืน มากกว่าที่ผลประโยชน์จะตกในมือของนายทุน
การลงทุนในยุคทุนนิยมที่อยู่ท่ามกลางการแข่งขัน หลากความเห็นจากหลายฝ่าย ต่างสะท้อนถึงมิติของความคาดหวัง แต่ในความเป็นจริงโลกอยู่ในยุคของการแข่งขัน การค้า การลงทุน โอกาสมีไม่ได้หลายหลายครั้ง และถ้ามีโอกาสบนดุลยภาพทุกด้าน และทุกมิติเป็นทางเลือกที่น่าสนใจทีเดียว