ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - องค์กรประชาชนชายแดนใต้ร่วมจัดโครงการ Children voice for peace รณรงค์เด็กบาดเจ็บ และเสียชีวิตเป็นศูนย์ใน 2556 เพื่อเป็นเวทีหาทางออกของปัญหาเด็กที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในพื้นที่
ที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deepsouth Watch) วานนี้ (1 ม.ค.) กลุ่มด้วยใจ พร้อมด้วย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม สมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ และเครือข่ายบัณฑิตอาสาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการประชุมเพื่อเตรียมโครงการ Children Voices For Peace ที่จะจัดในวันที่ 9 ม.ค.นี้ที่ TK PAKR อ.เมือง จ.ยะลา
น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ผู้ประสานงานโครงการ กล่าวว่า จากสถิติของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2555 มีเด็กเสียชีวิต 56 ราย บาดเจ็บจำนวน 345 คน นอกจากนี้ ยังมีเด็กที่กำพร้าพ่อแม่ จำนวน 4,942 คน ซึ่งในหลายๆ เหตุการณ์เด็กกลายมาเป็นเหยื่อของความรุนแรงมากขึ้น เช่น เหตุการณ์คนร้ายกราดยิงชาวบ้านที่ร้านน้ำชา ต.ตันหยงลิมอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2555 ทำให้เด็กเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 1 คน เหตุการณ์คนร้ายลอบวางระเบิดรถไฟ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2555 บาดเจ็บ 3 คน และมีแนวโน้มว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่มีเด็กเสียชีวิตมากขึ้น และเด็กมีอายุน้อยลง
ดังนั้น ทางกลุ่มด้วยใจ และเครือข่ายจึงจัดโครงการนี้ขึ้นมา เพื่อที่จะให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักในเรื่องดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐ และประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากเด็กๆ ดังกล่าวเป็นลูกหลานของคนในพื้นที่
โครงการ Children Voices For Peace เป็นเวทีในการพูดคุยหารือเรื่องการป้องกันเด็กจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่เด็กกลายเป็นเหยื่อ และมีแนวโน้มเด็กกลายเหยื่อของความรุนแรงมากขึ้น และเด็กที่เป็นเหยื่อมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ
ทั้งนี้ ที่ประชุมข้อสรุปว่า จะมีการเชิญนักเรียนในพื้นที่ทั้งที่เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาในพื้นที่ เพื่อเข้าร่วมงาน จำนวน 150 คน เช่น โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ โรงเรียนสตรีอิสลามวิทยา อ.เมือง จ.ยะลา โรงเรียนสตรียะลา โรงเรียนอามานะศักดิ์ อ.เมือง จ.ปัตตานี
โดยในวันจัดงานจะมีกิจกรรมกลางแจ้ง (OUT DOOR) เป็นกิจกรรมเพื่อเด็กๆ โดยเฉพาะ และกิจกรรมในที่ร่ม (IN DOOR) เป็นกิจกรรมของผู้ใหญ่ โดยมีการเสวนาในหัวข้อ “ความท้าท้ายและอุปสรรคในการป้องคุ้มครองเด็กภายใต้สถานการณ์ความรุนแรง” และหัวข้อ “กลไกการป้องกันเด็กจากความรุนแรงในพื้นที่” โดยมีการเชิญเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ครูสอนศาสนา (อุสตาซ) โตะครู ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และตัวแทนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เข้ามาร่วมเสวนา
“หลังการเสวนาจะมีการร่วมแถลงการณ์ ขอให้ตัวเลขเด็กเสียชีวิต และบาดเจ็บเป็นศูนย์ในปี 2556 และกิจกรรมแสดงเจตจำนงร่วมแสดงจุดยืนยุติความรุนแรงต่อเด็กในสถานการณ์ความไม่สงบในพื้น ซึ่งเราจะนำภาพถ่ายจากการจัดโครงการนี้ เพื่อใช้ในการรณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อเด็กในพื้นที่ภายใต้ในปี 2556 ทั้งปีในชื่อการรณรงค์ว่า Zero Children Victim 2013 หรือขอให้ตัวเลขเด็กเสียชีวิต และบาดเจ็บเป็นศูนย์ในปี 2556” น.ส.อัญชนากล่าว
ฮัสซัน โตะดง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)