ระนอง - สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนอง เร่งรัดติดตามการให้วัคซีนป้องกันโรคคอตีบในเด็กทั้งไทย และต่างด้าว ผู้ปฏิบัติงานที่ใกล้ชิดกับแรงงานต่างด้าว และผู้อยู่บริเวณแนวชายแดน หลังพบการระบาดในจังหวัดใกล้เคียง พร้อมให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านออกให้ความรู้ และสำรวจพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อค้นหาผู้มีอาการสงสัย ขณะเดียวกัน หน่วยสอบสวนเคลื่อนที่เร็วจะออกค้นหาผู้ป่วย และผู้สัมผัสโรคในพื้นที่ ขณะนี้ จังหวัดระนองไม่พบผู้ป่วย หรือผู้สัมผัสโรคคอตีบแม้แต่รายเดียว
นายแพทย์สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า จากการระบาดของโรคคอตีบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555 ต่อมา พบการระบาดในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้จังหวัดระนองซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี และมีชายแดนติดต่อกับประเทศพม่าซึ่งมีแรงงานเคลื่อนย้าย และอาศัยไม่เป็นหลักแหล่งจึงเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคคอตีบ โรคคอตีบเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ เชื้ออยู่ในจมูก และลำคอของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จามรดกัน หรือใช้ภาชนะร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อน หรือดูดอมของเล่นร่วมกันในเด็กเล็ก
อาการเริ่มจากมีไข้ ไอเสียงก้อง เจ็บคอ มีฝ้าสีขาวอมเทาติดบริเวณช่องคอ หรือโพรงจมูก ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ ทำให้การหายใจล้มเหลว และเสียชีวิต การป้องกันโรคคอตีบที่มีประสิทธิภาพ คือ การได้รับการฉีดวัคซีนครบ 5 ครั้งในเด็ก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนองจึงดำเนินการตรวจสอบการได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบในเด็กไทย และต่างด้าว กลุ่มอายุ 0-5 ปี และ 6-15 ปี พร้อมติดตามให้วัคซีนเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ เช่น เด็กในชุมชนแออัด เด็กที่อาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่เป็นแรงงานเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลา เด็กในกลุ่มแรงงานต่างด้าว และเด็กที่อาศัยตามแนวชายแดน รวมถึงผู้ปฏิบัติงานที่ใกล้ชิดกับแรงงานต่างด้าว เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข คนขับเรือจ้างข้ามฟากระนอง-เกาะสอง ทหารประจำด่านชายแดนให้ได้รับวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ระหว่างนี้หากท่านใดมีอาการไข้ ไอเสียงก้อง เจ็บคอ มีฝ้าสีขาวอมเทาติดบริเวณช่องคอควรรีบพบแพทย์ทันที
นอกจากนี้ ได้ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านออกให้ความรู้ และสำรวจพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อค้นหาผู้มีอาการสงสัย เพื่อส่งเข้ารับการตรวจรักษาโดยแพทย์ทันที ขณะเดียวกัน หน่วยสอบสวนเคลื่อนที่เร็วจะออกค้นหาผู้ป่วย และผู้สัมผัสโรคในพื้นที่ต่อไป
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระนอง กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้จังหวัดระนองยังไม่พบผู้ป่วย หรือผู้สัมผัสโรคคอตีบแม้แต่รายเดียว แต่การเฝ้าระวังโรคยังคงต้องดำเนินการต่อเนื่องจนกว่าจะไม่พบผู้ป่วยคอตีบในประเทศไทย