โดย...วันชัย พุทธทอง
“ผมรับผิดชอบเอง...”
เป็นคำพูดของเลขาธิการ สผ. หรือชื่อเต็มๆ ว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นคำพูดของหัวหน้าองค์กรที่พูดใส่หน้ากลุ่มผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมเชฟรอนฯ ที่จะมาก่อสร้างที่ ต.กลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
เป็นการพูดในวันที่กลุ่มผู้จะได้รับผลกระทบจากโครงการฯ เดินทางไปยังสำนักงาน สผ.เพื่อสอบถามถึงขั้นตอนการอนุมัติ และเนื้อหารายละเอียดของ EIA ฉบับที่อนุมัติให้เชฟรอนฯ แต่ปรากฏว่า ได้ยินคำดังกล่าวจากปากคนระดับ “เลขาธิการ สผ.” แทนคำอธิบายที่ยืนอยู่บนหลักวิชาการ และใช้คำพูดคำจาที่สมฐานะผู้บริหารองค์กร คำประมาณนี้พวกกุ๊ยข้างถนนมีใช้กันบ้าง แต่ไม่ได้ใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ...
เป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าประชาชนที่ยอมเดินทางไกลนับ 1,000 กิโลเมตร เพื่อไปสอบถาม หรือค้นหาความจริงให้กระจ่างจากผู้มีส่วนในการอนุมัติ EIA โดยตรง แต่กลับได้เจอตัวนักเลงกระจอกปากไม่ทันสิ้นกลิ่นน้ำนมเผยอปากว่า “ผมรับผิดชอบเอง...”
สผ.ไม่ใช่แก๊งเด็กแว๊นที่ขับรถกวนเมืองคอยสร้างความเดือนร้อนให้ประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน หรือบางครั้งเมื่อสบโอกาสก็ฉกชิงวิ่งราวทรัพย์ตามวาระ และโอกาส แต่ สผ.เป็นองค์กรที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาอย่างมีเหตุมีผล บุคลากรที่เข้ามาทำมาหากินอยู่ในองค์กรแห่งนี้ก็คาดว่าจะมีความรู้ความสามารถ ไม่ใช่คนบ้าที่ไหนก็ได้จะเข้ามาอยู่ในองค์กรแห่งนี้ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นที่รับรู้ทางสาธารณะ
แต่การเปล่งวรรคทองคำเปลวว่า “ผมรับผิดชอบเอง หากเกิดผลกระทบ” ออกมาจากปากคนระดับเลขาธิการ สผ. เป็นสิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึง และอยู่เหนือความคาดหมาย คำพูดเช่นนี้ไม่สามารถหาคำใดมาเปรียบเทียบได้ดีไปกว่า…
“อัปยศที่สุด”
เพราะเลขาธิการ สผ. เด็กปากไม่ทันสิ้นกลิ่นน้ำนมจะมีหน้ามารับผิดชอบชีวิตใครได้…
ผู้ที่เดินทางไกลเพื่อไปสอบถามข้อเท็จจริง และนั่งอยู่ในห้องประชุมฝั่งตรงข้ามกับ สผ. จำนวนมากเกินครึ่งเป็นผู้สูงอายุรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเลขาธิการ สผ. แต่เด็กปากไม่ทันสิ้นกลิ่นน้ำนมกลับกล่าววาจาสามหาวเช่นนี้ มันเกินไป...มันเกินไปจริงๆ...
ที่ผ่านมา บริษัทเชฟรอนฯ ได้ไปสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงไว้แล้วกว่า 180 ประเทศ และโครงการของเชฟรอนฯ ที่จะมาก่อสร้างใน ต.กลาย ก็ไม่แตกต่างกัน
ดังนั้น โทษฐานที่คนระดับเลขาธิการ สผ.เผยอปากปล่อยคำอัปยศออกมาเช่นนี้ เป็นความเลวร้ายที่สุดตั้งแต่มีการก่อตั้งองค์กรนี้ขึ้นมาในประเทศนี้...
เมื่อทาง เลขาธิการ สผ.มีพฤติกรรมเช่นที่กล่าวมาต่อหน้าพี่น้องประชาชนที่มีส่วนได้เสียกับโครงการ หรือ Stakeholders ทางเรามีมาตรการข้อเสนอเบื้องต้น ดังนี้...
ข้อเสนอแรก...สผ.ต้องยกเลิก EIA ฉบับที่ผ่านให้เชฟรอนฯ โดยเร็ว เนื่องจากเป็น EIA ที่ผิดหลักวิชาการ ขาดความชอบธรรม ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื้อหาในเล่มกล่าวไว้เพียงว่า หากมีผลกระทบใดๆ เกิดขึ้น เลขาธิการ สผ.จะรับผิดชอบเองเท่านั้น...
ข้อต่อมา...หลังจากประกาศยกเลิก EIA เชฟรอนฯ เรียบร้อยแล้ว สผ.ต้องยุบองค์กรอย่างเป็นทางการ เพราะเป็นองค์กรที่ไม่มีประโยชน์ใดๆ ต่อสังคมอย่างสิ้นเชิง ผลงานที่ผ่านมาของ สผ.ทำหน้าที่ได้เพียงพายเรือให้โจรนั่งเท่านั้น...