xs
xsm
sm
md
lg

อังกฤษไว้วางใจกระบวนการยุติธรรมไทย ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดีฆ่าผู้อื่นที่ภูเก็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - อังกฤษส่งผู้ร้ายข้ามแดน Mr.Lee Aaron ALDHOUSE อายุ 30 ปี มาดำเนินคดีในประเทศไทย ที่สภ.ฉลอง จ.ภูเก็ต ในข้อหาฆ่าผู้อื่น เป็นคดีแรกในรอบ 101 ปี ตามสนธิสัญญาที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน ซึ่งทำขึ้นตั้งแต่ปี 1911 หลังให้ความไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมของไทย
 

เมื่อเวลา 19.00 น.วันที่ 1 ธ.ค.2555 ที่ท่าอากาศยานภูเก็ต พ.ต.อ.อรุณ แกล้ววาที รอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต พร้อมด้วย พ.ต.อ.วันชัย ปะลาวัน ผกก.สส.ภ.จว.ภูเก็ต พ.ต.ท.ปทักข์ ขวัญนา สว.สส.ภ.จว.ภูเก็ต พ.ต.ท.วรพงศ์ พรหมอินทร์ สว.สส.สภ.ฉลอง เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ และเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ภ.จว.ภูเก็ต และ สภ.ฉลอง กว่า 30 นาย ได้ร่วมกันควบคุมตัว Mr.Lee Aaron ALDHOUSE อายุ 30 ปี สัญชาติอังกฤษ ผู้ต้องหาเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดีที่ สภ.ฉลอง ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต ในข้อหาฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288

โดยมีผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบด้วย นางอินทรานี สุมาวงศ์ อัยการพิเศษประจำสำนักงานอัยการฝ่ายกิจการต่างประเทศ 2 นายภาณุมาศ อจลบุญ อัยการพิเศษประจำนักงานอัยการฝ่ายกิจการต่างประเทศ 2 พ.ต.อ.สินาด อาจหาญวงศ์ ผู้กำกับการฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 3 กองการต่างประเทศ และ พ.ต.ท.เกชา สุขรมย์ รองผู้กำกับการฝ่ายตำรวจสากลและประสานงานภูมิภาค 3 กองการต่างประเทศ ร่วมคุมตัว Mr.Lee Aaron ALDHOUSE มาด้วย หลังจากได้ร่วมกันเดินทางไปรับตัว Mr.Lee Aaron ALDHOUSE ผู้ต้องหา เป็นผู้ร้ายข้ามแดนจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรมาดำเนินคดีที่ประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 27 พ.ย.-1 ธ.ค.55
 
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2553 ผู้ต้องหาได้ลงมือก่อเหตุใช้อาวุธมีดแทง Mr.Long Fellow Dashawn อายุ 23 ปี สัญชาติอเมริกัน เสียชีวิต เหตุเกิดที่รีสอร์ต ยะนุ้ยพาราไดร์ บีช รีสอร์ท ห้องหมายเลข 9/35 ม.6 ซอยยะนุ้ย ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต หลังจากก่อเหตุ ผู้ต้องหาได้หลบหนีออกจากเกาะภูเก็ต และทาง สภ.ฉลองได้ออกหมายจับ แต่ผู้ต้องหาได้หลบหนีออกจากประเทศไทย เข้าประเทศกัมพูชา ก่อนที่จะไปขึ้นเครื่องบินที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อหลบหนีกลับไปยังประเทศอังกฤษ แต่ขณะที่เครื่องบินลงจอดที่รันเวย์ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจของประเทศอังกฤษจับกุมตัวไว้ได้ และได้มีการประสานมายังตำรวจไทย ให้ดำเนินการรับตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย เนื่องจากก่อคดีในประเทศไทย
 
โดยอัยการสูงสุดผู้ประสานงานกลางตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 ได้ติดต่อประสานเพื่อรับตัวผู้ต้องหามารอดำเนินคดีในประเทศไทย ซึ่งการติดต่อขอตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลากว่า 2 ปี ก่อนที่จะได้รับการอนุมัติส่งตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทยดังกล่าว
 
ส่วนสาเหตุที่ผู้ต้องหาได้ลงมือใช้อาวุธมีทำร้าย Mr.Long Fellow Dashawn จนถึงแก่ความตายนั้น สืบเนื่องจากก่อนเกิดเหตุ ผู้ตายพร้อมเพื่อน 5 คน หลังจากการซ้อมชกมวยเสร็จ ก็ได้พากันไปนั่งดื่มเหล้าเบียร์ที่บาร์เบียร์แห่งหนึ่ง ริมหาดราไวย์ ม.6 ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต ขณะที่ผู้ต้องหาก็ได้เดินทางเข้าไปเที่ยวที่บาร์เบียร์เดียวกันกับผู้ตาย และนั่งโต๊ะติดกับโต๊ะของผู้ตาย ระหว่างที่ต่างฝ่ายต่างนั่งดื่มเหล้าเบียร์กันอยู่นั้น ทางด้านผู้ต้องหาได้พูดคุยโอ้อวดในกลุ่มเพื่อนๆ เกี่ยวกับศิลปะแม่ไม้มวยไทย และการขึ้นชกมวยไทยบนเวทีให้เพื่อนๆ ฟัง พร้อมบอกว่าอยากมีเรื่องชกต่อยกับคนอื่น เพื่อโชว์ฝีมือการชกมวยไทยให้เพื่อนๆ ดู กระทั่งเวลาผ่านไปครู่หนึ่ง ปรากฏว่า ผู้ตายได้ลุกขึ้นจากโต๊ะเพื่อไปเข้าห้องน้ำ ผู้ต้องหาก็ลุกขึ้นตามไปเพื่อที่จะหาเรื่องชกต่อยกับผู้ตายเพียงเพื่อโชว์เพื่อนๆ ที่มาด้วยกัน โดยผู้ต้องหาได้ปรี่เข้าไปชกต่อยผู้ตายหนึ่งครั้ง ผู้ตายซึ่งได้เรียนมวยไทยมาเช่นกัน เมื่อถูกคนไม่รู้จักชกต่อยจึงชกสวนกลับไป จนผู้ต้องหาล้มลงไปนอนกองกับพื้น จนเพื่อนๆ ทั้งในส่วนของผู้ต้องหา และผู้ตายปรี่เข้ามาแยกทั้ง 2 คน ออกจากกัน
 
จากนั้นผู้ตายได้เรียกพนักงานของร้านเพื่อจ่ายค่าอาหาร และเดินทางกลับที่พัก ขณะที่ผู้ต้องหารู้สึกว่าตัวเองเสียหน้า และโกรธแค้น จึงออกจากร้านตามผู้ตายไป ระหว่างนั้นได้แวะเข้าไปภายในร้านสะดวกซื้อซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตร และเข้าไปที่หลังเคาน์เตอร์หยิบมีดหั่นไส้กรอกที่วางอยู่ 2 เล่ม แล้ววิ่งออกมาขับจักรยานยนต์ไล่ตามผู้ตายไปที่ห้องพักขณะที่ผู้ตายกำลังใช้กุญแจไขประตูห้อง ผู้ต้องหาก็ปรี่เข้าหาใช้มีดปลายแหลมแทงผู้ตายที่หน้าอกซ้ายเหนือราวนม 1 ครั้ง ผู้ตายรีบวิ่งเข้าภายในห้อง แต่ผู้ต้องหาได้วิ่งตามเข้าไปจ้วงแทงซ้ำตัดขั้วหัวใจจนเสียชีวิตคาที่ ก่อนที่จะหลบหนีออกนอกประเทศ จนกระทั่งถูกส่งตัวกลับมาดำเนินคดีดังกล่าว
 
นางอินทรานี สุมาวงศ์ อัยการพิเศษประจำสำนักงานอัยการฝ่ายกิจการต่างประเทศ 2 กล่าวภายหลังร่วมคุมตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีที่ สภ.ฉลองว่า ตนได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นผู้ประสานงานกลางให้ไปรับตัวผู้ต้องหา ซึ่งเราได้ร้องขอเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศสหราชอาณาจักร ตน และคณะทั้งหมด 4 คนได้เดินทางไปรับตัวผู้ต้องหากลับมาดำเนินคดีในข้อหาฆ่าผู้อื่น ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการดำเนินการของ สภ.ฉลอง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ในการดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเราจะต้องมีสนธิสัญญาที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน ระหว่างประเทศไทย กับประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งทำขึ้นตั้งแต่ปี 1911 หรือ พ.ศ.2454 ซึ่ง ณ วันนี้นับได้ 101 ปี ตลอดระยะเวลานี้มาทางการไทยได้เคยขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนมายังสหราชอาณาจักรบ้าง แต่เราก็ไม่เคยได้รับตัวมาเลย ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีแรกที่ทางการสหราชอาณาจักร ได้ให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในรอบ 101 ปี แต่ถ้าเรานับไปแค่ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2553-2555 ทางการไทยโดยผู้ประสานงานกลาง คือ อัยการสูงสุด ได้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยประสานงานกับสำนักงานตำรวจสากล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งไปทั้งหมดเกินกว่า 20 กว่าราย ในระยะเวลา 3 ปีนี้ ที่เรามีการร้องขอ แต่ในรอบ 101 ปี เขาเพิ่งส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย 
 
ความสำคัญของคดีนี้ เป็นคดีที่มีความสำคัญมากเพราะว่าภูเก็ตเป็นจังหวัดที่เป็นที่สนใจของโลก จะสนใจความสงบเรียบร้อยของจังหวัดภูเก็ต แล้วก็ประสิทธิภาพในการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ได้ให้ความสำคัญกับจังหวัดภูเก็ต และการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนในคดีนี้เป็นการขอที่ยากที่สุดเราจะต้องผ่านขั้นตอนของสิทธิมนุษยชน ให้ทางการของประเทศสหราชอาณาจักรสามารถที่จะมีความไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยได้ว่าเขาส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาแล้ว เราจะปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนที่กำหนดเอาไว้ในระหว่างประเทศ รวมทั้งการที่เราจะต้องให้ความเป็นธรรมในการดำเนินคดีในสิทธิที่จะต้องมีทนาย มีล่าม มีการแจ้งในทุกสิ่งทุกอย่าง และการควบคุมตัวต้องไม่มีการทำร้าย หรือมีการข่มขู่ใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งอัยการจังหวัดต้องเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินคดีนี้ให้เป็นไปตามหลักของกฎหมายระหว่างประเทศด้วย 
 
อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาดังกล่าวมีความเครียดระหว่างเดินทางกลับมาดำเนินคดีที่ สภ.ฉลอง โดยกังวลว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับเขาบ้าง ซึ่งเราก็ได้อธิบายไปว่า ไม่ต้องกังวล เพราะว่าเราไม่ใช่ประเทศที่ไม่รู้จักหลักการปฏิบัติระหว่างประเทศ หรือว่าหลักกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เราก็ทำได้มาตรฐานของโลก หลังมีการอธิบายทำความเข้าใจแล้ว เขาก็รู้สึกสบายใจขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม ทางการไทยต้องขอขอบคุณทางประเทศสหราชอาณาจักรที่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาดำเนินคดีในประเทศไทย





กำลังโหลดความคิดเห็น