xs
xsm
sm
md
lg

“ป่าทุ่งตะเซะ” แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขุมทรัพท์ที่ชุมชนหวงแหน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสน่ห์ จ.ตรัง ใช่จะมีเพียงทะเล ภูเขา หรือเกาะแก่ง แต่ยังมีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่พักพิงของสัตว์ต่างๆ หลายชนิด นักเดินทางที่ชอบท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ควรจะไปสัมผัสกันสักครั้ง บนเนื้อที่ร่วม 2,000 ไร่ ที่ “บ้านทุ่งตะเซะ” อ.ย่านตาขาว ริมฝั่งแม่น้ำปะเหลียน

 
ป่าชายเลนชุมชน “บ้านทุ่งตะเซะ” มีเนื้อที่ประมาณ 2,000 ไร่ ตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 9 ตำบลทุ่งกระบือ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง พร้อมทั้งยังอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปะเหลียน และติดต่อกับอำเภอกันตัง กับอำเภอปะเหลียน ซึ่งนอกจากจะมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมากแล้ว ยังมีพันธุ์ไม้ที่มีความโดดเด่น และหลากหลาย เช่น ตะบูน โกงกาง ปีปี (แสมทะเล) นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำหลายชนิด เช่น นาก ลิง ค่าง บ่าง กระรอก เสือปลา งู และนกนานาชนิด อีกทั้งบางครั้งก็พบปลาโลมาว่ายเวียนมาหาอาหารด้วย

 
กระบวนการสร้างป่าชุมชนแห่งนี้ เกิดจากปัญหาทรัพยากรเสื่อมโทรม ทั้งจากการสัมปทานป่าชายเลนให้แก่ธุรกิจเผาถ่าน ตั้งแต่เมื่อปี 2484 หรือการลักลอบตัด และแปรรูปไม้ ซึ่งการลดลงของป่าชายเลนนั้นได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณสัตว์น้ำ โดยเฉพาะหอยกัน ซึ่งเคยอาศัยอยู่ใต้ป่าไม้ใหญ่อย่างหนาแน่น ประกอบกับชุมชนจากต่างถิ่นเริ่มเข้ามาทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้าง เช่น อวนรุน นอกจากนั้น สัตว์ป่าในป่าชายเลนก็ลดลงจากการล่าเพื่อบริโภคด้วย

เหตุนี้เอง เมื่อปี 2534 กลุ่มแกนนำในหมู่บ้าน และชาวบ้านจึงมีการปรึกษาหารือ และเห็นร่วมกันถึงความจำเป็นในการกำหนดแนวเขตที่ชัดเจน ระหว่างพื้นที่ป่าสัมปทาน กับพื้นที่ป่าใช้สอยของหมู่บ้าน เพื่อปกป้องทรัพย์สินของชุมชน จากนั้น ในช่วงปี 2536-2538 คณะกรรมการป่า ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แกนนำ และชุมชน จึงช่วยกันปลูกป่าชายเลนในบริเวณรอบๆ หมู่บ้านหลายครั้ง ภายใต้การสนับสนุนของสมาคมหยาดฝน รวมทั้งยังจัดกิจกรรมการสาง และการปลูกเสริมในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม

 
หลังจากนั้น ความพยายามในการดำเนินงานป่าชายเลนชุมชน “บ้านทุ่งตะเซะ” ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ การประชุมสัมมนา หรือการต่อสู้กับปัญหาเรืออวนรุนจากต่างหมู่บ้าน สาเหตุจากแนวเขตป่าสัมปทานไม่ชัดเจน จึงเริ่มมีการประชาสัมพันธ์ในหมู่บ้าน ควบคู่กับการจัดค่ายเยาวชนรักษ์ป่าชายเลน จนมีหน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ เข้ามาตรวจเยี่ยมจำนวนมาก เช่น ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (RECOFTC) คณะรัฐมนตรีประเทศพม่า และลาว

คณะกรรมการป่าชุมชนแห่งนี้ จะมีการประชุมกันทุกวันที่ 7 ของเดือน เพื่อทบทวนกิจกรรมที่ผ่านมา และร่วมกันระดมความคิดแก้ปัญหา โดยมีแบ่งการจัดการพื้นที่ป่าชายเลนออกเป็น 4 แปลง ได้แก่ แปลงที่ 1 แปลงป่าอนุรักษ์ ที่ไม่อนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์ แปลงที่ 2 แปลงป่าจาก เพื่อให้ชุมชนได้ใช้สอย และสามารถหาซื้อเพื่อไปประกอบอาชีพ แปลงที่ 3 แปลงป่าใช้สอยของหมู่บ้าน โดยการสลับกันใช้ประโยชน์ และแปลงที่ 4 แปลงป่าสมุนไพรเพื่อการศึกษา หรือเรียนรู้ระบบนิเวศของชุมชน

 
นอกจากนั้น ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการใช้ประโยชน์ไว้อย่างชัดเจน เช่น หากชาวบ้านคนใดต้องการใช้ไม้ ต้องแจ้งให้คณะกรรมการทราบ และต้องผ่านการพิจารณาถึงเหตุผล และจำนวน, ไม่อนุญาตให้ตัดไม้ในป่าเพื่อนำไปค้าขาย, ถ้าคนใดตัดไม้ไปใช้ 1 ต้น ต้องมีการปลูกทดแทน 5 ต้น, ถ้าคนใดไม่ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับป่า จะไม่อนุญาตให้ได้ใช้ไม้, ถ้าเข้าตัดไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จะลงโทษปรับ 5,000-10,000 บาท หรือส่งเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย, ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาเก็บสมุนไพรในเขตป่า

 
การดูแลป่าชายเลนชุมชน “บ้านทุ่งตะเซะ” ก่อให้เกิดผลดีในระดับชุมชน คือ เกิดกระแสการดูแลป่าชายเลนขึ้นหลายแห่งในเขตลุ่มน้ำปะเหลียน และเกิดความมั่นคงด้านอาหาร อย่างน้อยใน 6 หมู่บ้าน 3 อำเภอ ส่วนในระดับจังหวัด ก่อให้เกิดแหล่งศึกษาดูงาน หรือแหล่งท่องเที่ยวด้านป่า และได้ขยายผลออกไปทั้งในระดับประเทศ หรือในระดับภูมิภาค เพราะได้พิสูจน์ให้เห็นศักยภาพของชุมชนในการดูแลรักษาป่า ท่ามกลางปัญหาและอุปสรรคมากมาย ด้วยระยะเวลาอันยาวนานนับตั้งแต่เมื่อปี 2529 จนถือเป็นป่าชุมชนต้นแบบของจังหวัดตรัง ผู้ใดสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เทศบาลตำบลทุ่งกระบือ โทร.0-7520-4705-6




ภาพ/เรื่อง - เมธี เมืองแก้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น