xs
xsm
sm
md
lg

“อิ่ม จันทร์ชุม” บรมครูผู้รังสรรค์หนังตะลุงให้มีชีวิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
“หนังตะลุง” เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านภาคใต้ที่ให้ความบันเทิงแก่คนในท้องถิ่นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประวัติความเป็นมาของหนังตะลุงนั้น สันนิษฐานว่าอาจจะได้รับอิทธิพลมาจากหนังใหญ่สมัยอยุธยา หรืออาจจะได้รับแบบอย่างมาจากชวา แต่ก็มีหลักฐานโบราณคดี และประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า ภาคใต้ในอดีตเคยมีอาณาจักรโบราณที่รุ่งเรือง และหลายคนเชื่อว่า หนังตะลุงมีกำเนิดที่ภาคใต้ของไทยนี่เอง

อย่างไรก็ดี หนังตะลุงกลายเป็นเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ และได้วิวัฒนาการพัฒนาเนื้อเรื่องให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ก็ยังคงลักษณะของศิลปะดั้งเดิมไว้โดยเฉพาะรูปหนังซึ่ง ปัจจุบัน รูปหนังตะลุงไม่เพียงแต่จะใช้เพื่อการแสดงอย่างเดียว แต่ยังเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศนิยมซื้อเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก เช่น พวงกุญแจ ภาพประดับฝาผนัง และของใช้ต่างๆ เป็นต้น

เมื่อพูดถึงการแกะสลักหนังตะลุง บุคคลที่ถูกกล่าวถึง และมีความสำคัญต่อวงการแกะสลักหนังตะลุงอย่างมากคนหนึ่งคือ “บรมครูอิ่ม” หรือ นายอิ่ม จันทร์ชุม ช่างแกะสลักหนังตะลุงจาก จ.พัทลุง ที่มีฝีมือแกะสลักสวยงามเป็นที่เลื่องลือ ได้แสดงฝีมือแกะตัวหนังตะลุงป้อนโรงหนังในภาคใต้มาตลอดเกือบ 60 ปี จากช่างแกะหนังตะลุงมาเป็นบรมครูของลูกศิษย์ มีศูนย์ศิลปหัตถกรรมแกะหนังตะลุง อ.บางแก้ว จ.พัทลุง เป็นสถานที่บ่มเพาะลูกศิษย์มากกว่าพันคน เพื่อสนองเบื้องพระยุคลบาทในการสืบทอดศิลปะการแกะหนังตะลุงของชาติ
“บรมครูอิ่ม” หรือ นายอิ่ม จันทร์ชุม ช่างแกสลักรูปหนังตะลุงผู้เลื่องชื่อ
 
ครั้งหนึ่ง มีชาวต่างชาติมาติดต่อว่าจ้างให้ครูอิ่มเดินทางไปสอนการแกะสลักที่ประเทศเยอรมนี โดยให้ค่าจ้างเป็นเงิน 5 ล้านบาท แต่ด้วยอุดมการณ์ และจิตสำนึกในความเป็นไทย ทำให้ครูอิ่มรู้สึกหวงแหนเสียดาย และต้องการอนุรักษ์ศิลปกรรมที่สืบต่อจากบรรพบุรุษไว้ให้ลูกหลานชาวไทยเท่านั้น ครูอิ่มจึงปฏิเสธที่จะไปร่วมงานดังกล่าว ทั้งที่ได้ค่าตอบแทนเป็นเงินจำนวนไม่น้อยทีเดียว

ต่อมา เมื่อครูอิ่มได้มีโอกาสเข้ามาเฝ้า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ท่านได้มีรับสั่งให้ครูอิ่มอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมเพื่อสอนเป็นวิทยาทานต่อไป ทำให้ครูอิ่มมีปณิธาน และกำลังใจที่จะอนุรักษ์ และสืบทอดศิลปะเพื่อการสร้างสรรค์งานศิลป์ที่ทรงคุณค่า และถ่ายทอดความรู้ให้แก่อนุชนรุ่นหลังสืบมา

 
และในปี 2524 ครูอิ่มได้เริ่มสอนการแกะสลักหนังให้แก่ชาวบ้าน และเด็กนักเรียนที่สนใจ ควบคู่ไปกับการผลิตรูปหนังของครูอิ่มเอง โดยใช้วัดเป็นศูนย์การสอน ก่อนจะสร้างสถานที่ใช้เป็นศูนย์ฝึกอบรมอยู่ใกล้ๆ บ้าน โดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์ศิลปหัตถกรรมรูปหนังบางแก้ว”

ปัจจุบัน ครูอิ่มมีรายได้หลักจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์หนังแกะสลัก โดยแกะเป็นรูปตัวละครในวรรณคดี หรือตัวละครในหนังตะลุง แกะลวดลายที่วิจิตรพิสดาร หนังที่นิยมใช้มักเป็นหนังวัว เนื่องจากมีความนิ่ม และมีความกว้างพอ วัวตัวหนึ่งจะได้หนังประมาณ 7 กิโลกรัม สามารถแกะเป็นตัวหนังตะลุงได้ประมาณ 20 ตัว และเศษที่เหลือยังสามารถแกะเป็นของชำร่วยที่ระลึกได้อีก

นายฉลอง จันทร์ชุม ผู้รับการสืบทอดหัตกรรมแกะรูปหนังตะลุง
 
นายฉลอง จันทร์ชุม ผู้รับการสืบทอดหัตกรรมแกะรูปหนังตะลุง 1 ในลูก 6 คนของครูอิ่ม เปิดเผยว่า หลังจากที่ตนได้รับการฝึกฝนแกะรูปหนังตะลุงมาจากบิดา โดยเล่าเรียนมาตั้งแต่วัย 12 ปี จนมาทำหน้าที่นี้ก็พบว่า สามารถทำหน้าที่สืบสานศิลปะแกะตัวหนังตะลุงได้อย่างดี แม้วัตถุดิบ เช่น หนังวัวจะขาดแคลน และออเดอร์ที่สั่งซื้อตัวหนังตะลุงจะมีมาก แต่ตนก็ยังสามารถเดินหน้าสืบทอดอาชีพจากผู้เป็นพ่อได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การแกะหนังตะลุง หรือการทำรูปหนังตะลุง เป็นงานหัตถกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแสดงหนังตะลุง อันเป็นมหรสพที่ชาวภาคใต้นิยมกันมาช้านาน จนถือได้ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของภาคใต้ โดยจำนวนช่างแกะหนังตะลุง หรือช่างทำรูปหนังตะลุง เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนนายหนังแล้วจะเห็นได้ว่าแตกต่างกันมาก จนอาจกล่าวได้ว่า จำนวนช่างแกะหนังตะลุงมีเพียง 1 ส่วน ในขณะที่นายหนังตะลุงมีมากถึง 7 ส่วน

 
เนื่องจากอาชีพช่างแกะหนังตะลุง เป็นช่างศิลป์แขนงหนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดวิชา และกระบวนการผลิตจากบรรพบุรุษในลักษณะงานฝีมือในครอบครัว ระบบการให้การศึกษาเรียนรู้ก็เข้าลักษณะงานช่างศิลป์ไทยรุ่นโบราณ คือ ไม่มีหลักสูตร และระยะเวลาศึกษาที่แน่นอนตายตัว อาศัยความสัมพันธ์ทางเครือญาติระหว่างผู้ถ่ายทอดกับผู้รับการถ่ายทอดเป็นประการสำคัญ จนกระทั่งสามารถจะออกปฏิบัติงานด้วยตนเอง และยึดเป็นอาชีพได้จึงจะถือว่าจบหลักสูตรวิชานี้

และอาชีพช่างแกะหนังตะลุงในพื้นที่ จ.พัทลุงนั้น ในสมัยก่อนนั้นมีจำนวนน้อยอย่างยิ่ง เพราะอาชีพนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนคณะหนังตะลุง หากมีคณะหนังตะลุงมาก อาชีพแกะหนังตะลุงก็พลอยดีตามไปด้วย แต่หากช่วงใดสังคมให้ความสนใจต่อมหรสพแขนงนี้น้อย อาชีพช่างแกะหนังก็ซบเซาลงไปด้วย


 
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันใน จ.พัทลุง มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทำให้รายได้ของช่างแกะหนังตะลุงพลอยกระเตื้องขึ้นตามไปด้วย เพราะนอกจากรูปหนังตะลุงที่แกะขึ้นจะถูกนำไปใช้ในการแสดงแล้ว ยังกลายเป็นของที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวด้วย เจ้าของร้านขายของที่ระลึก หรือพ่อค้าคนกลางก็ได้มีส่วนร่วมในการเผยแพร่งานฝีมือแขนงนี้ให้กว้างขวาง ทำให้อาชีพแกะหนังตะลุงลืมตาอ้าปากได้มากกว่าแต่ก่อน คนหนุ่มสาวในบางหมู่บ้านจึงหันมาฝึกหัดงานแกะหนังกันอย่างขะมักเขม้น เพราะเห็นช่องทางทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่รำไร

 
การสร้างรูปแบบหนังตะลุง คือ สามารถใช้เชิดได้ โดยยึดแบบอย่างจากช่างรุ่นเก่า รวมทั้งการเอาตัวละครในวรรณคดีต่างๆ มาทำเป็นรูปหนังตะลุง วรรณกรรมที่มีอิทธิพลต่อช่างทำรูปหนังตะลุงมากที่สุดคือ เรื่องรามเกียรติ์ มีรูปแบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวละครรามเกียรติ์ เช่น รูปพระราม นางสีดา ทศกัณฐ์ หนุมาน เป็นต้น

การทำรูปหนังตะลุงให้มีความหลากหลายก็เพื่อให้ลูกค้าได้มีโอกาสเลือก และบางรูปแบบก็ทำขึ้นตามความต้องการของลูกค้า เช่น นักท่องเที่ยวที่เป็นคนจีนก็มักจะให้ทำรูปมังกร เจ้าแม่กวนอิม หรือรูปเซียนในลักษณะต่างๆ

ดังนั้น เพื่อความเข้าใจตรงกันในการติดต่อซื้อขายหนังตะลุง ผู้ซื้อ และช่างผู้ผลิต จึงเรียกการทำรูปหนังตะลุงว่า “ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนัง” แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ

รูปหนังตะลุง มีลักษณะเด่น คือ สามารถเชิด หรือขยับชิ้นส่วนได้บางส่วน เช่น ปาก แขน ขา

รูปหนังใหญ่ มีลักษณะเด่น คือ มีขนาดใหญ่ มีความหมาย และคำตอบอยู่ในภาพ ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับเรื่องรามเกียรติ์ เพราะหนังใหญ่นิยมเล่นเรื่องรามเกียรติ์ ดังนั้น ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องรามเกียรติ์จะทราบว่ารูปหนังใหญ่นั้นเกี่ยวข้องกับรามเกียรติ์ตอนไหน อย่างไร

ภาพศิลป์ เป็นงานแกะสลักหนังประเภทหนึ่งที่ช่างภาพทำขึ้นตามจินตนาการของตนเอง และเกิดจากความต้องการของผู้ว่าจ้าง ภาพศิลป์จะไม่มีข้อจำกัดในการสร้างสรรค์ แต่เป็นงานที่เกิดขึ้นสนองความต้องการของคนตามยุคสมัยที่ยังคงเป็นศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของภาคใต้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น