xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทยใจกลางเมือง...(สงขลา)/บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : ฝ่าเกลี่ยวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส

เวลาราว 19.00 น.ของค่ำวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ ถนนนครใน ใจกลางเมืองสงขลา ได้มีกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธสงครามทั้งปืนคาร์บิน M.16 ถล่มยิงนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเมืองสงขลากว่า 30 นัดตายคาที่ การฆ่ากันด้วยอาวุธสงครามดูไปแล้วก็ไม่ต่างจากหนังไทย ที่ผู้ร้ายซึ่งเป็นสมุนเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลลากเอาปืนผาหน้าไม้ออกมาข่มขู่เข่นฆ่าประชาชน โชคร้ายของผู้ร้ายในคดีนี้เพราะคนที่เขาลงมือฆ่าเป็นถึงนายกเทศมนตรี แห่งเทศบาลนครเมืองสงขลา

พีระ ตันติเศรณี คือ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเมืองสงขลา คือ ผู้ซึ่งสังเวยชีวิตด้วยคมกระสุนล้มลงเสียชีวิตคาที่หน้าสำนักงานของเครือข่ายภาคพลเมืองที่ชื่อว่า “สงขลาฟอร์รัม” หน้าบ้านเลขที่ 97 บนถนนนครในกลาง ใจกลางเมืองเก่าของจังหวัดสงขลา ในขณะที่เขาไปร่วมประชุมปรึกษาหารือกับภาคพลเมืองในการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นวิถีปกติที่เขาทำอยู่เป็นประจำ มีคำถามตามมามากมายว่าคนดีๆ อย่างนายพีระ มีศัตรูทางการเมืองที่ขัดแย้งกันรุนแรงขนาดไหน ทำไมถึงต้องฆ่ากันชนิดหวังผลว่าจะต้องตายสถานเดียว อาวุธสงครามร้ายแรงจึงถูกนำมาปฏิบัติการในใจกลางเมือง โดยผู้ลงมือหาได้เกรงกลัวกฎหมายของบ้านเมืองแต่ประการใด

การฆ่ากันของกลุ่มความขัดแย้งในเมืองสงขลา และเมืองอื่นๆ มีให้ทราบกันทางสื่อเสมอๆ การใช้อาวุธสงครามเข่นฆ่ากันกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคมไทย ในจังหวัดสงขลาเองก็หาได้รอดจากข้อยกเว้นนั้น การถล่มสมาชิกสภาจังหวัดสงขลาท่านหนึ่งตรงสี่แยกไฟแดงห้าแยกเกาะยอเมื่อสามสี่ปีที่ผ่านมา ก็มีการลากอาวุธสงครามมายิงถล่มใส่กันกลางวันแสกๆ ตำรวจที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุก็หลบหนีเอาตัวรอดหัวซุกหัวซุนเพราะไม่อาจจะทานกับอาวุธของฝ่ายผู้ร้ายได้ แล้วคดีความต่างๆ ก็เริ่มละลายหายไปกับสายลม เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2553 ก็มีผู้ร้ายบุกยิงอาจารย์มนตรี สังข์มุสิกานนท์ รองอธิการบดี ม.ทักษิณ ต่อหน้าเพื่อนร่วมโต๊ะอาหารริมทะเลสาบสงขลานั่นเอง

การเมืองที่มีการก่อรูปถักทอกันขึ้นจากกลุ่มผู้มีอำนาจ และอิทธิพลเข้ายึดกุมกลไกการบริหารทั้งในระดับประเทศ และในระดับท้องถิ่น เป็นปรากฏการณ์ที่ดำรงอยู่จริงในสังคมไทย การใช้ระบบอุปถัมภ์ค้ำชูดูแลกันอย่างเป็นระบบ คือ การสร้างฐานทางการเมือง และเกาะกุมยึดครองอำนาจบริหารบ้านเมืองมาในทุกระดับ สงขลาก็หาได้หลุดรอดจากการเมืองในแนวทางดังกล่าว นักการเมืองทั้งในระดับชาติ ระดับท้องถิ่นก็ก้าวขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองโดยการสร้างระบบอุปถัมภ์ให้มากขึ้น กว้างขวางยิ่งขึ้น เพื่อรองรับฐานคะแนนเสียง การเปิดบ่อนเพื่อดูแลนักเลงหัวไม้ และเลี้ยงดูปูเสื่อลูกน้องที่เป็นทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ และสร้างอาชีพให้พวกพ้อง การสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อรองรับหัวคะแนน หรือกลุ่มลูกหลานของหัวคะแนน เป็นรูปแบบของการทำงานการเมืองที่เป็นอยู่ของสังคมไทย ไม่เว้นแม้แต่เมืองสงขลา เราจึงมีนักการเมืองที่ห้อมล้อมไปด้วยกลุ่มมือปืนที่ต้องคดีความมาก่อน เราจึงมีนักการเมืองที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองไปพร้อมๆ กับการสร้างอำนาจ และความร่ำรอยให้แก่ตัวเอง และพวกพ้อง

ท่านนายกฯ พีระ ก็เข้าสู่ถนนการเมืองในกรอบดังกล่าว แต่สิ่งหนึ่งที่ท่านไม่เคยลืมก็คือวิญญาณแห่งการต่อสู้เพื่อสิ่งที่ดีงามที่ท่านถูกฟูมฟักมาแต่เยาว์วัย และถูกแต่งเติมให้หนักแน่นยิ่งขึ้นจากขบวนการต่อสู้ของประชาชนในยุค 14 ตุลา ท่านได้สะท้อนไว้ในหนังสือรุ่น ม.ศ.5 ร.ร.มหาวชิราวุธ ว่า คำขวัญสำหรับชีวิตของท่านคือ “ยืนหยัด ทระนง อุดมการณ์กำหนดชีวิต” และมีบันทึกการเติบโตทางความคิดทางการเมืองของท่านไว้หลายกรณี เช่น “ระลอกคลื่นสิบสี่ตุลาซัดมาถึงสงขลา เริ่มอ่านงานของอนุช อาภาภิรม ในนิตยสารวิทยาสาร และชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ ฟังเพลงคาราวาน ช่วง ม.ศ.4-5...ประสานกับศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทยและศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เพื่อนหลายคนหนีเข้าป่า ผมหอบหนังสือซ้ายใส่ลังกระดาษกลับบ้านท่าเข็น ...”

ความคิด “ก้าวหน้า” ที่ฝังอยู่ในจิตใจตลอดมาถูกแปรเป็นรูปธรรมที่ดีงาม และสร้างสรรค์ในหลายๆ เรื่อง ซึ่งแน่นอนในหลายๆ กรณีไปขัดกับแนวทางการทำงานการเมืองที่เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีอยู่ คือ การเมืองที่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์ และขยายอำนาจเพื่อยึดกุมบ้านเมืองไว้ภายใต้ระบอบอุปถัมภ์ค้ำชู และเป็นแหล่งทำมาหากินกันของเหล่านักการเมือง คุณพีระจึงเป็นอุปสรรคขัดขวางที่สำคัญ เขาจึงถูกสั่งให้ต้องตายไปเสียจากการเมืองที่กลุ่มการเมืองเก่าที่เขามีประโยชน์กันอยู่ และไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

“ผมเกิดที่บ้านท่าเข็น ตำบลคลองแดน อำเภอระโนด หน้าบ้านติดทะเล หลังบ้านติดคลองแดน ตายายทำนา เตี่ยกับแม่ทำประมงชายฝั่ง ชีวิตวัยเด็กจึงผูกพันกับวิถีเล-คลอง-ท้องนา จนเรียนจบ ป. 7 จากโรงเรียนวัดหัวคุ้งใกล้บ้าน” ...การเป็นลูกชาวประมงพื้นบ้านดังที่ท่านเล่าไว้ และผมสนใจการทำงานแก้ไขปัญหาของชุมชนประมงชายฝั่งทำให้เราสนิทสนมกันมากว่า 20 ปีก่อนที่ท่านจะเข้าสู่การเมือง วันนี้ท่านจากไปด้วยอำนาจทมิฬในเมืองสงขลา การตายของท่านอาจจะเป็นเสมือนหนังไทย หรือละครน้ำเน่าที่คนไทยเสพกันอย่างงอมแงม ไม่กี่วันก็จะมีละครเรื่องใหม่เข้ามาแทนที่ ซึ่งก็น่าจะน้ำเน่าดังเดิม สู่สุคตินะครับ พี่ได้ทำดีที่สุดของพี่แล้ว.

กำลังโหลดความคิดเห็น