xs
xsm
sm
md
lg

ชายหาดพังทลายเพราะ “ความไม่รู้” หรือ “สูไม่สน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...Desert Rose

ในปัจจุบันนี้ ปัญหาความเสียหายของชายหาดในประเทศไทย โดยเฉพาะฝั่งอ่าวไทยนั้น ล้วนแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากปัญหาการกัดเซาะ การพังทลาย จุดเล็กๆ กลับขยายขอบเขตความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ จนเราต้องกลับมาตั้งคำถามว่า สิ่งที่ทางภาครัฐได้ทำการแก้ไขอยู่นั้น เป็นการแก้ไขที่ถูกต้องหรือไม่ หรือเป็นการเร่งการทำลายไปในอีกทางหนึ่ง

การทำเขื่อนกันคลื่นในประเทศไทยนั้น มีตัวอย่างให้เห็นถึงความเสียหายมากมาย ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่นที่ ญี่ปุ่น หรือในสหรัฐอเมริกา ซึ่งในต่างประเทศนั้นได้ยกเลิกการทำเขื่อนกันคลื่นในลักษณะนี้ไปก่อนแล้ว แต่เหตุใดประเทศไทยถึงยังได้นำรูปแบบความผิดพลาดของคนอื่นมาใช้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ ต้องเน้นความเข้าใจ “การทำงานร่วมกับธรรมชาติ” โดยให้ความสำคัญกับ “สมดุลของตะกอนทราย” และไม่แทรกแซงระบบธรรมชาติเป็นหลัก
ภาพโดย Julaluk CE : ภาพที่ 1 บ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา (ก.ย. 2555)
แต่เพราะการไม่มีความรู้ในกลไกธรรมชาติของหาดทราย หรือเพราะความเห็นแก่ได้เพื่อกอบโกยผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่จะตามมาในอนาคต แต่เดิมผู้เริ่มโครงการมักจะอ้างถึงปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของคลื่นในช่วงฤดูมรสุม ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง และสิ่งปลูกสร้างบริเวณชายฝั่ง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว การกัดเซาะชายฝั่งในฤดูมรสุมนั้น เป็นเพียงการกัดเซาะชั่วคราวในช่วงสั้นๆ ทรายชายหาดจะถูกพัดพากลับมาอีกครั้งในหน้าฤดูปกติอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ เลยที่จะต้องไปยุ่งอะไรกับชายหาดซึ่งเป็นตัวประสานที่ดีที่สุดระหว่างทะเลกับแผ่นดิน เนื่องจากมีสถานะเป็นกึ่งแข็งกึ่งเหลว จึงมีการดูดซับแรงปะทะได้ดีกว่าของแข็ง อีกทั้งสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญต่างๆ ไม่ควรสร้างไปอยู่ใกล้ทะเลอยู่แล้ว ซึ่งการไปสร้างเขื่อนกันคลื่น หรือไปถมหินเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง เช่นที่หาดเก้าเส้งนั้น (ภาพที่ 2 และ 3) จะเป็นการทำลายชายหาดซึ่งมีมูลค่าสูงกว่าสิ่งปลูกสร้างนั้นๆ อย่างมากมายมหาศาล
ภาพที่ 2 ภาพหาดเก้าเส้ง อ.เมืองสงขลา ในอดีต (ที่มา: เครือข่ายเฝ้าระวังรักษาชายหาด www.bwn.psu.ac.th)
ภาพที่ 3 หาดเก้าเส้งในปี 2546 (ที่มา: เครือข่ายเฝ้าระวังรักษาชายหาด www.bwn.psu.ac.th)
จากที่กล่าวไปนั้น หากมีการศึกษาธรรมชาติของชายหาดอย่าแท้จริงแล้ว จะเห็นได้ว่า การกระทำต่างๆ ทั้งหมดที่ได้ทำไป และยังทำอยู่เรื่อยๆ เป็นการกระทำที่เข้าใจผิดโดยทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นไปโดยตั้งใจหรือไม่ ซึ่งควรจะมีการแก้ไข หรือปรับเปลี่ยนแนวความคิดใหม่เสีย จะเห็นได้ชัดว่า การพยายามก่อสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อแก้ไขที่หาดเก้าเส้ง หรือหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา ในขณะนี้ ยังไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง โดยไม่ว่าการจะนำหิน หรือกระสอบบรรจุทรายมาวางตามแนวหาด (ภาพที่ 4) เพราะมีความคิดว่าจะดูดซับแรงกระแทกได้เหมือนหาดทราย หรือจะเป็นการนำทรายในชายทะเลกลับขึ้นมาถมตรงชายหาด (ภาพที่ 5) ซึ่งล้วนแต่เป็นโครงการที่มูลค่าสูงมาก แต่อาจจะไม่ได้มีผลในระยะยาวอย่างแน่นอน หากไม่มีการประเมินปัจจัยต่างๆ อย่างรอบคอบ เช่น ทิศทางของกระแสน้ำ ชายฝั่ง และตะกอนทราย ดังเช่น ตัวอย่างที่เมืองวาล โด โลโบ (Vale do Lobo) ประเทศโปรตุเกส ที่ได้มีการถมทรายกว่า 700,000 ลูกบาศก์เมตร ใช้เงินลงทุนไป 3.2 ล้านยูโร (ประมาณ 128 ล้านบาท) (ที่มา : http://www.eurosion.org/reports-online/part1.pdf,หนังสือ“หาดทราย มรดกธรรมชาติที่นับวันจะสูญสิ้น” ) กลับถูกคลื่นพัดหายไปในระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ นับเป็นการสูญเสียเงินงบประมาณแผนดิน และภาษีของประชาชนไปโดยใช่เหตุทั้งสิ้น
ภาพที่ 4 ชายหาดขลาทัศน์ที่มีทั้งกำแพงหินทิ้ง (ที่มา: เครือข่ายเฝ้าระวังรักษาชายหาด www.bwn.psu.ac.th)
กำแพงกระสอบทราย (ที่มา: เครือข่ายเฝ้าระวังรักษาชายหาด www.bwn.psu.ac.th)
ภาพที่ 5 การถมทรายที่หาดชลาทัศน์ อ.เมืองสงขลา ปี 2555 (ภาพโดย Julaluk CE)
หนำซ้ำในทางอ้อมการก่อสร้างโครงสร้างแข็งต่างๆเพื่อป้องกันคลื่นนั้น ยังก่อให้เกิดไอทะเล ไอเกลือจำนวนมากที่เกิดจากการกระทบของคลื่นกับตัวโครงสร้างแข็ง ส่งผลให้เกิดการกัดกร่อนกับสิ่งปลูกสร้าง วัสดุต่างๆในบริเวณที่อยู่อาศัยของชุมชนลึกไปไกลกว่าเดิมอีกด้วย
ภาพที่ 6 หาดชลาทัศน์ที่สวยงามในอดีตมองลงทิศใต้
มองขึ้นทิศเหนือ (ที่มา: เครือข่ายเฝ้าระวังรักษาชายหาด www.bwn.psu.ac.th)
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า ตัวการทั้งหมดของปัญหาความเสียหายของชายฝั่งในประเทศไทย หาได้มาจากธรรมชาติ แล้วมนุษย์เป็นผู้ป้องกันแก้ไขไม่ แต่เป็นมนุษย์นี่แหละ ที่เป็นผู้ทำลายคุณค่าและความสวยงามของชายหาดลงด้วยมือของตนเอง (ภาพที่ 6) จะด้วยความไม่รู้ หรือรู้แต่จงใจแล้วละเลยก็แล้วแต่ หาดทรายที่เคยสวยงามสามารถทนทานต่อสู้กับคลื่นลมแรงแปรปรวนได้มาเป็นล้านๆปี แต่กลับต้องมาพังเพราะคนใจคดไม่กี่คนในช่วงเวลาไม่กี่สิบปีเท่านี้เอง...

กำลังโหลดความคิดเห็น