ยะลา - พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และประธานฯ โครงการพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่ยะลา ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการฯ พร้อมให้กำลังใจนักเรียนโรงเรียนพระดาบส จ.ยะลา ก่อนจบการศึกษา
วันนี้ (24 ก.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่โรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายในศูนย์ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนยะลา อ.เมือง จ.ยะลา พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี พร้อมด้วยนายบัญญัติ จันทร์เสนะ เลขาธิการโครงการฯ นายภานุ อุทัยรัตน์ รองเลขาธิการโครงการฯ ได้เดินทางมารับทราบผลการดำเนินงานการปรับปรุง และการต่อเติมอาคารโรงฝึกงาน พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมนักเรียนในโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นายสุธา ทวีทอง รองผู้อำนวยการโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมให้การต้อนรับ พร้อมบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน หลังได้รับงบประมาณในการปรับปรุงอาคารฝึกงาน
จากนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ได้เยี่ยมชมโรงฝึกงาน ซึ่งประกอบด้วย งานพื้นฐานไฟฟ้า งานพื้นฐานช่างกล พร้อมทั้งกล่าวให้กำลังใจ และให้โอวาทแก่นักเรียนโครงการพระดาบส โดยขอให้นักเรียนซึ่งได้รับโอกาสในการเข้าเรียนในโรงเรียนพระดาบสแห่งนี้มีความขยัน อดทน และตั้งใจในการเรียน เพื่อจะได้ออกไปประกอบอาชีพ ทำงานเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ โรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดขึ้นจากน้ำพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีต่อเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะเยาวชนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาให้ได้มีโอกาสฝึก และอบรมคุณธรรม ศีลธรรมตามศาสนาที่ตนนับถือ โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนมีความขยัน ซื่อสัตย์ อดทน มีวินัย และพัฒนาตนเองอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถออกไปประกอบอาชีพ สร้างตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้อย่างยั่งยืน
โดยเริ่มดำเนินการเรียนการสอนในรุ่นแรก เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2553 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 2554 มีจำนวน นักเรียน 39 คน ใช้ระยะเวลา 6 เดือน เปิดสอน 3 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ หลักสูตรช่างซ่อมและบำรุงรักษารถยนต์ และหลักสูตรช่างซ่อมเครื่องจักรกลทางการเกษตร นักเรียนได้สำเร็จการฝึกอบรม ทั้ง 39 คน และเข้าทำงานในสถานประกอบการ จำนวน 22 คน ประกอบอาชีพส่วนตัว 14 คน และศึกษาต่อ จำนวน 3 คน
ในรุ่นที่ 2 มีนักเรียนจำนวน 42 คน เริ่มดำเนินการเรียนการสอนในวันที่ 1 พ.ค.2554 ถึง 31 มี.ค.2555 ใช้ระยะเวลา 1 ปี นักเรียนได้สำเร็จการฝึกอบรมทั้ง 42 คน และเข้าทำงานในสถานประกอบการ จำนวน 29 คน ประกอบอาชีพส่วนตัว 6 คน และรอการเรียกตัวเพื่อเข้าสู่สถานประกอบการ จำนวน 7 คน
โดยรุ่นนี้ เป็นรุ่นที่ 3 เดิมจำนวน 50 คน แต่ขณะนี้เหลือ จำนวน 49 คน ดำเนินการเรียนการสอนในวันที่ 21 พ.ค.2555 โดยใช้เวลา 1 ปี ในการศึกษาวิชาเตรียมช่างและวิชาเฉพาะ ซึ่งประกอบด้วยวิชาช่างซ่อมบำรุงรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และวิชาช่างบำรุงเครื่องจักรกลทางการเกษตร ตามแต่ความสนใจของแต่ละคน