xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลา สร้างมาตรฐาน ยกระดับ “มวยไทย” กีฬามรดกชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่อยากจะเชื่อว่ามรดกของชาติอย่างกีฬา “มวยไทย” ศิลปะการต่อสู้ของบรรพชน ได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติ สร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล แต่กลับถูกมองข้าม ถูกละเลย ไร้มาตรฐาน อย่างกรณีของการเปิดค่ายมวยแบบไม่ต้องขออนุญาตจดทะเบียน เลยทำให้ค่ายมวยผุดขึ้นแน่นยิ่งกว่าดอกเห็ด เพราะจากการสำรวจโดยกระทรวงการต่างประเทศเพียงแค่ 36 ประเทศ ก็มีค่ายมวยเปิดมากถึง 3,800 แห่ง เลยทีเดียว!!



 

“มวยไทย” ศาสตร์ต่อสู้ผสานศิลป์
 
ศิลปะมวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ที่บรรพชนไทยถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ให้อนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสืบสานต่อกันมาอย่างยาวนานนับพันปี และแพร่หลายเป็นกีฬาประจำชาติ เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยที่ชาวต่างชาติทั่วโลกรู้จัก
 
จากแรกเริ่มมวยไทยจะใช้กันในยุคยามศึกสงคราม เรียกไดว่าเป็นศาสตร์การโจมตีทั้งแปด ซึ่งรวม สองมือ สองเท้า สองศอก และสองเข่า จนปัจจุบันได้มีการดัดแปลง ประยุกต์ ให้กลายเป็นกีฬา โดยมีสายมวย 4 สายสำคัญหลักๆ คือ มวยท่าเสา มวยโคราช มวยไชยา และมวยลพบุรี
 
ทั้งที่มวยไทยเป็นกีฬาที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของเรา แต่ ณ เวลานี้ กลับพบว่า มวยไทย ยังมีปัญหาการพัฒนาในหลายๆด้าน อย่างบางคนก็มักจะมองว่า มวยนั้นเป็นกีฬาการต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรง เป็นกีฬาอาชีพ เลยไม่ค่อยได้รับความนิยมจากคนไทยเอง แต่จากประเทศภายนอกเขามองว่า ศิลปะการต่อสู้นี้สามารถเรียนเพื่อใช้ในการป้องกันตัวได้ เป็นกีฬาที่ผสมผสานระหว่างศาสตร์แห่งการต่อสู้และศิลปะท่าทางได้อย่างลงตัว



ผลักดัน มาตรฐานมวยไทย
 
ถึงแม้มวยไทยเป็นกีฬาการต่อสู้ที่ดุดัน แข็งกร้าว แต่ก็แฝงท่วงท่าลีลาอ่อนช้อย อย่างที่หาได้ยากจากศิลปะการต่อสู้ของประเทศอื่นๆ กีฬามวยไทยจึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ดังที่เราจะเห็นตามแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในเมืองไทย ซึ่งจะมีโชว์มวยเรียกนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ
 

ตามที่กล่าวไปว่าตอนนี้ค่ายมวยเกิดขึ้นมากกว่า 3,800 แห่ง ใน 36 ประเทศ ก็ลองคิดดูว่าตัวเลขของจำนวนค่ายมวยในประเทศที่เรายังไม่ได้ทำการสำรวจจะมีอยู่มากขนาดไหน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า แต่ในประเทศบราซิล เพียงประเทศเดียว ก็มีค่ายมวยเปิดสอนอยู่ถึง 1,631 แห่งเลยทีเดียว หรือในประเทศไทยเองที่มีค่ายมวยมากกว่าถึง 1,762 แห่ง ทั้งที่วิชามวยไทย การเป็นครูมวยไทยนั้นไม่เคยมีการสอนอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ทว่ากลับมีการเปิดค่ายมวยทั้งได้มาตรฐาน ไม่ได้มาตรฐาน อย่างมากมาย
 

มันจึงถึงเวลาแล้วที่ต้นตำรับของเราจะลุกขึ้นมาผลักดัน กีฬามวยไทย ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันอย่างที่ ธนิฏฐา เศวตศิลา มณีโชติ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มองว่า มวยไทยเป็นกีฬาที่ได้นับวันรับความนิยมจากต่างชาติ จึงควรเร่งผลักดันให้เกิดเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด
 

“ปัญหาของกีฬามวยไทยในตอนนี้คือ เราไม่มีมาตรฐาน ต่างชาติไปเปิดค่ายมวย เปิดสอนมวยแล้วมันไม่ใช่การสอนที่ถูกต้อง มันผิด เราก็เลยต้องสร้างมาตรฐานให้ตรงกัน ตั้งแต่การรู้ประวัติความเป็นมาของมวยไทย รู้แม่ไม้ ลูกไม้มวยไทย รู้ท่าทางเชิงมวยต่างๆ โดยทำให้เป็นหลักสูตรเหมือนกับกีฬาอื่นๆ และก็อยากให้คนไทยมองว่า มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ที่มีคุณค่า ไม่ได้ว่าเรียนมวยแล้วต้องต่อยเป็นอาชีพอย่างเดียว แต่เรียนไว้สำหรับป้องกันตัวก็ได้
 

แล้วมวยไทยเนี่ยได้รับความนิยมมาก เลยอยาก ทำในเรื่องของการตลาดให้ชัดเจน อย่างการเปิดค่ายมวยที่เมืองนอกมันก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด แต่ตอนนี้เราออกหลักสูตรมาถ้าคุณมีครูมวยที่จบหลักสูตรนี้มา มีใบรับรอง ได้เครดิตจากรัฐบาลไทย ค่ายมวยคุณก็จะมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น”
 
คาดการณ์กันว่ามวยไทย นอกจากจะเป็นกีฬาเอกลักษณ์ส่งเสริมความเป็นชาติไทยแล้ว ยังสามารถสานต่อในด้านของเศรษฐกิจได้อีกด้วยโดยเป็นช่องทางในการนำรายได้มูลค่ามหาศาลเข้าประเทศเฉลี่ยปีหนึ่งไม่น่าจะต่ำกว่า 728 ล้าน ยิ่งถ้าสามารถส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับมวยได้อย่าง กางเกงมวย มงคล ประเจียด รายได้น่าจะยิ่งเพิ่มทวีคูณมากขึ้น



คลอดหลักสูตร ครูมวยต้นแบบ
 
มวยไทยเป็นศาสตร์และศิลป์ที่บรรพชนได้คิดค้นอย่างชาญฉลาด บุคคลที่จะศึกษาศิลปะมวยไทยจึงต้องได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ วิธีปฏิบัติทักษะมวยไทยได้ถูกต้อง เพื่อเผยแพร่มวยไทยสู่สากล และสามารถถ่ายทอด ฝึกสอน มวยไทยได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐาน
 

ด้วยเหตุนี้ ชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้มอบหมายให้ 3 หน่วยงาน การกีฬาแห่งประเทศไทย สถาบันการพลศึกษา และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมมือกันสร้างแผนงานพัฒนาและยกระดับมาตรฐานมวยไทย เพื่อให้การฝึกสอนมวยไทยทั่วโลกมีรูปแบบ และมีมาตรฐานเดียวกัน เหมือนกับกีฬาของชาติอื่นๆ เช่น เทควันโด
 

กว่าแผนงานนี้จะสำเร็จออกมาเป็นรูปเป็นร่างได้ ก็ใช้เวลากว่า 2 ปี ในการเก็บข้อมูล วิจัย และคลอดออกมาเป็น “หลักสูตรสมรรถนะครูมวยไทย” หรือ ไลเซนส์ (License) ที่เปรียบเสมือนเป็นใบรับรองอย่างถูกต้องตามมาตรฐานจากรัฐบาลไทย และสิ่งสำคัญก็คือหลักสูตรนี้จะเป็นการผลิตบุคลากรครูมวยที่มีความเชี่ยวชาญในการสอนนั่นเอง

หวังว่าหลักสูตรดังกล่าวจะช่วยผลักดันกีฬามวยไทยให้มีมาตรฐานที่ถูกต้องเหมือนกัน ยกระดับกีฬาภูมิปัญญาไทยให้เป็นกีฬาที่แพร่หลายเหมือนกับที่ประเทศอื่นๆ เขาทำได้มาแล้ว ถึงแม้อาจจะมาช้าไปสักหน่อยก็ยังดีกว่าไม่มา ไม่มีเลย


 
 

3 ขั้นสู่ครูมวยอาชีพ

หลักสูตรสมรรถนะครูมวยไทยแบ่งได้เป็น 3 ระดับ โดยต้องเริ่มเรียนตั้งแต่ระดับพื้นฐานครูผู้ช่วย ไปจนถึงระดับอาจารย์มวย ซึ่งต้องผ่านการทดสอบตามเกณฑ์ก่อนจึงจะสามารถเรียนไลเซนส์ต่อไปได้ ไล่ตั้งแต่ไลเซนส์ C B และ A โดยจะต้องเป็นครูสอนมวยที่มีประสบการณ์มาอยู่ก่อนแล้ว ถึงจะเข้าอบรมในหลักสูตรนี้ได้
Licensed C ระดับครูผู้ช่วย
เนื้อหาหลักสูตรสำคัญ ได้แก่ ประวัติมวยไทย ทักษะพื้นฐานของมวยไทย แม่ไม้และลูกไม้มวยไทย ศิลปะการรุกและป้องกันตัว กฎหมายมวยไทยฯ
Licensed B ระดับครู
เนื้อหาหลักสูตรสำคัญ ได้แก่ ความเป็นมาครูมวยไทย ศิลปะมวยไทยขั้นสูง เชิงมวยและกลมวย เทคนิคการรับและโต้ การจัดโปรแกรมฝึกซ้อมฯ
Licensed A ระดับอาจารย์
เนื้อหาหลักสูตรสำคัญ ได้แก่ ศาสตร์และศิลป์มวยไทย การจัดการแข่งขันมวยไทย หลักการบริหารมวยไทยสู่สากล การวัดและประเมินผลมวยไทยฯ
โดยทั้ง 3 หลักสูตรนั้นจะใช้เวลาในการเรียนทั้งสิ้นหลักสูตรละ 84 ชั่วโมง เมื่อเข้ารับการอบรมแล้วก็จะได้รับเกียรติบัตร และถ้าผ่านการทดสอบตามเกณฑ์ของหลักสูตรก็จะได้รับประกาศนียบัตรแสดงระดับความสามารถ

นอกจากการจัดทำหลักสูตรสมรรถนะครูมวยไทย หรือ ไลเซนส์แล้ว ยังมีหลักสูตรมาตรฐานศิลปะมวยไทย 9 ขั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมอนุรักษ์ศิลปะมวยไทย ใช้ศิลปะมวยไทยในเชิงอนุรักษ์การต่อสู้และป้องกันตัว และส่งเสริมการออกกำลังกายด้วยศิลปะมวยไทย โดยแบ่งระดับขั้นออกเป็น 9 ขั้น เรียงตามสีของผ้าประเจียด คือ ขาว เหลือง เขียว ฟ้า น้ำเงิน น้ำตาล ส้ม แดง และดำ ที่ในอนาคตจะผลักดันให้เข้าสู่ระบบโรงเรียนทั่วไปนอกไปจากการเรียนการสอนในสถาบันการพลศึกษาเท่านั้น











กำลังโหลดความคิดเห็น