xs
xsm
sm
md
lg

ตั้ง “ศูนย์พม่าศึกษา” รับประชาคมอาเซียนเป็นเกตเวย์สู่เมืองเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดี มรส.
สุราษฎร์ธานี - มรส.จับมือวิทยาลัยชุมชนระนอง ตั้ง “ศูนย์พม่าศึกษา” เตรียมความพร้อมรับประชาคมอาเซียน และการสร้างท่าเรือน้ำลึก ตั้งเป้าเป็นเกตเวย์เชื่อมไทยสู่มะริด และทวาย สองเมืองเศรษฐกิจสำคัญของพม่า

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ได้ลงนามความร่วมมือระหว่าง มรส. กับวิทยาลัยชุมชนระนอง (วชช.ระนอง) ในการร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์พม่าศึกษา” ขึ้น ณ วิทยาลัยชุมชนระนอง จ.ระนอง เพื่อจัดการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับพม่าผ่านหลักสูตรระยะสั้น และระยะยาวตามความจำเป็น และความต้องการของท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ รวมทั้งอบรมภาษาพม่าให้แก่คนไทย โดยมี ผศ.ดร.ณรงค์ พุทธิชีวิน อธิการบดี มรส.และนางพรชิต ศรีบุญจิต ผอ.วชช.ระนอง ร่วมลงนาม

ผศ.ดร.ณรงค์ กล่าวว่า ต้องการให้ศูนย์พม่าศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 และเป็นเกตเวย์สู่มะริด และทวาย ซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ที่กลายเป็นเมืองท่า เมืองเศรษฐกิจ และประตูการค้าที่สำคัญ มั่นใจว่าศูนย์พม่าศึกษาจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางวิชาการทั้งแก่ภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งเกิดประโยชน์แก่ทั้งสองประเทศในอนาคต

ด้าน ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มรส. กล่าวว่า ระนองเป็นจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศพม่าโดยมีแม่น้ำกระบุรีเป็นเส้นแบ่ง และนับเป็นถนนสายชีวิตของแรงงานพม่านับพันคนที่ใช้เป็นเส้นทางสัญจรเข้าออกในแต่ละวัน ขณะนี้ มีแรงงานพม่าในจังหวัดระนองประมาณกว่า 8 หมื่นคน ในจำนวนนี้ มีแรงงานสัญชาติพม่าที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทยประมาณ 5 หมื่นคน

“ตอนนี้คนพม่ากล่าวถึงระนองว่าเป็นบ้านหลังที่ 2 ของชาวพม่า แสดงให้เห็นความเป็นญาติมิตรใกล้ชิด และการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างคนสองประเทศ ดังนั้น ไทยต้องทำความรู้จักกับประเทศเพื่อนบ้านในแง่มุมลึกซึ้ง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ทั้งนี้ พม่าเองก็มีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับไทย ทั้งยังเป็นแหล่งอารยธรรม สังคม และเป็นมรดกโลก มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ”

นอกจากนี้ ศูนย์พม่าศึกษาจะเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาพื้นที่ตอนใต้เขตตะนาวศรี ในเมืองมะริด และทวาย ในโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึก และเขตเศรษฐกิจที่จะเป็นศูนย์กลางการค้า

กำลังโหลดความคิดเห็น