xs
xsm
sm
md
lg

เหมือนทะเลมีเจ้าของ/บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย...บรรจง นะแส
 
ตระเวนทำงานอยู่กับพี่น้องประมงพื้นบ้านมากว่า 30 ปี ภาพของพี่น้องอาชีพประมงชายฝั่งในพื้นที่ 24 จังหวัดของประเทศ ตั้งแต่นราธิวาสไปถึงจังหวัดตราด ฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่ระนองยันสตูล พบว่า พวกเขามีความเป็นอยู่ที่อัตคัดขัดสนเพิ่มมากขึ้น บางชุมชนต้องล่มสลายอพยพย้ายถิ่นฐาน เลิกอาชีพที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เพราะไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้อีกต่อไป ทะเลที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับไร้ซึ่งกุ้ง หอย ปู ปลา การทำอาชีพประมงชายฝั่งของคนกว่า 300,000 ครอบครัว กำลังจะถูกลบออกจากสารบบของหน่วยงานต่างๆ สาเหตุหนึ่งที่สำคัญก็เพราะว่า “เหมือนทะเลมีเจ้าของ”

“เหมือนทะเลมีเจ้าของ” เป็นเรื่องสั้นที่ อัศศิริ ธรรมโชติ เจ้าของรางวัลซีไรต์ในปี พ.ศ.2524 จากการเขียนเรื่องสั้นที่ชื่อว่า “ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง” และท่านได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติเมื่อปี 2543 อัศศิริ ธรรมโชติได้บรรยายภาพของทะเลไทย ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่ชุมชนประมงที่หัวหิน เพราะบ้านของท่านอยู่ที่นั่น ภาพที่ท่านพบสภาพของทะเล และบรรยายไว้เมื่อปี 2539 คือ “ทะเลทอดตัวขรึม ริมทะเลไหวเต้น เหมือนบอกคำทักทาย เมื่อแรกพบ สีมันดูเปลี่ยนไปในความรู้สึกของฉัน หากดูขุ่นข้น และด่างดำ มีกลิ่นน้ำเค็มที่คุ้นเคยโชยกลิ่นมาเท่านั้น ทีทำให้ฉันตื่นเต้น ในการกลับมาบ้านเกิด “ทะเลเดี๋ยวนี้เหมือนมีเจ้าของ ...”

นั่นเป็นภาพของชุมชนประมงชายฝั่งในราวๆ ปี 2539 ที่คุณอัศศิริ ธรรมโชติได้บรรยายไว้ เป็นเพียงภาพของการบริหารจัดการสะพานปลา ที่วันนี้ ภาพเหล่านี้ก็ยังดำรงอยู่ การปล่อยให้สะพานปลาแต่ละพื้นที่เต็มไปด้วยขยะ สิ่งปฏิกูลเน่าเหม็นที่ทิ้งลงสู่ทะเล ขาดการบริหารการจัดการให้ถูกสุขลักษณะเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วเป็นอย่างไร วันนี้ก็ยังคงเป็นอย่างนั้น เจ้าของสะพานปลาคือ หนึ่งในบุคคล กลุ่มบุคคลที่เป็นเจ้าของทะเล

เหมือนทะเลมีเจ้าของ เป็นเรื่องสั้นที่มีการรวมเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับทะเลในอีกหลายๆ มิติเล่ม เช่น บอกเล่าเรื่องราวของคนลูกน้ำเค็มที่จากทะเลไปนานแสนนาน และเมื่อถึงวันที่เขากลับมาบ้าน ได้พบกับเพื่อนๆ ซึ่งเขาไม่ได้ยึดอาชีพชาวประมงเหมือนเดิมอีกแล้ว สภาพชุมชนบ้านเมืองที่พัฒนาเปลี่ยนไป ผู้คนก็เปลี่ยนแปลง ทะเลเองก็เปลี่ยนแปลง เมื่อต้องหวนไห้กับอดีตของหมู่บ้าน อดีตในยุคสมัยก่อนที่จะจากไป วิถีเหล่านั้นไม่หวนกลับมาให้เห็นอีกแล้ว อะไรกันแน่ที่ทำให้ทะเลเปลี่ยนไป และถึงปี พ.ศ.นี้ ปี 2555 ผู้ที่เป็นเจ้าของทะเลที่แท้จริง ก็ยังไม่ใช่ของคนจับปลา ไม่ใช่ของคนกินปลา หรือทะเลไม่ใช่ของคนไทยร่วมกัน แต่ทะเลเป็นของกลุ่มคนบางกลุ่ม บางพวกที่แสดงตัวตนเป็นเจ้าของทะเลไว้แต่เพียงผู้เดียว

จากทะเลที่แทบจะมีแต่น้ำเค็ม และพื้นที่อันเวิ้งว้าง แนวคิดในการบริหารจัดการทะเลเพื่อกระชับพื้นที่ และสร้างความเป็นเจ้าของทะเลในเชิงปัจเจกก็เกิดขึ้นจากนักการเมือง หลายคนคงได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของนโยบายแปลงทรัพย์สินเป็นทุนที่เกิดขึ้นในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กันได้ดี หนึ่งในนั้นก็คือ การผลักดันให้มีการจับจองพื้นที่ชายฝั่งทะเล ซึ่งเรียกว่า โครงการซีฟูดแบงก์ (Sea Food Bank) หลักการของโครงการที่ว่าคือ การนำท้องทะเลเข้ามาเป็นของรัฐ จากนั้น รัฐจะเป็นผู้แจกจ่ายพื้นที่ทางทะเลให้แก่เกษตรกรที่ต้องการที่ทำกินด้านการประมงที่ได้แจ้งความประสงค์ไว้ (โดยการลงทะเบียนคนจน) ที่ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกโครงการนี้ว่าการออก “โฉนดทะเล”

หลักคิดของโครงการก็คือ ให้เกษตรกรผู้ที่ได้โฉนดทะเลไป สามารถนำเอกสารสิทธิไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับแหล่งทุนได้ แล้วนำทุนที่ได้มาจัดหาและเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 5 ชนิด (3 หอย 2 ปลา) ได้แก่ หอยแมลงภู่ หอยแครง หอยนางรม ปลากะรัง หรือปลาเก๋า และปลากะพงขาว โดยคิดว่านี่คือ การแก้ไขปัญหาความยากจนโดยการแบ่งปันพื้นที่ทะเลให้คนจนมีส่วนได้เป็นเจ้าของทะเล โชคดีที่โครงการนี้ได้รับการคัดค้านจากชุมชนประมงชายฝั่งอย่างหนัก เพราะพวกเขารู้ดีว่า อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยง สุดท้ายทะเลก็จะกลับไปอยู่ในมือของนายทุน และพวกเขาก็จะไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของทะเลแม้แต่น้อย

กรมประมงได้ทำการศึกษาวิจัยพันธุ์สัตว์น้ำในอ่าวไทยโดยวิธีการทำอวนลาก ข้อมูลที่ได้พบว่าในปี พ.ศ.2504 สามารถจับสัตว์น้ำได้ชั่วโมงละ 298 กิโลกรัม แต่ในปี พ.ศ.2542 ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เหลือแค่ชั่วโมงละ 3 กิโลกรัม ตรรกะพื้นๆ ของคำตอบง่ายๆ ที่ได้ก็คือ กุ้งหอยปูปลาได้หายสาบสูญไปจากท้องทะเลไทยอย่างรวดเร็ว แต่กรมประมงรู้ทั้งรู้ก็ยังยินยอมให้มีการทำการประมงด้วยอวนลากตลอดมา และเตรียมนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อนที่ผิดกฎหมายอีกกว่า 2,000 ลำให้สามารถทำการประมงได้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

ทะเลไทยในวันนี้จึงมีเจ้าของที่ชัดเจน เจ้าของทะเลไทยในวันนี้ก็คือเหล่ากลุ่มธุรกิจประมงเรืออวนลาก เจ้าของโรงงานอาหารสัตว์ที่รับปลาเป็ดมาทำปลาป่นป้อนโรงงานของพวกเขา เจ้าของโรงงานน้ำปลา กลุ่มธุรกิจเพาะเลี้ยง ฯลฯ โดยมีหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกรมประมงทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของพวกเขาอย่างเต็มที่ คนจับปลาที่เป็นชาวประมงพื้นบ้านกว่าสามแสนครอบครัวในพื้นที่ชายฝั่ง 24 จังหวัด คนกินปลาทั่วประเทศกว่า 60 ล้านคน เป็นเพียงผู้รอรับเศษเสี้ยวส่วนแบ่งเพียงเล็กๆ น้อยๆ จากพวกเขาเท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น