ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ม.อ.หาดใหญ่ ร่วมกับหลายหน่วยงานเปิดประชุมวิชาการนานาชาติรัฐศาสตร์ “รศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก” จากมหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ ปาฐกถาเกาะติดการทำงานของ คอป.ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อหาข้อเท็จจริง และทางออกแก่สังคมไทยที่อุดมด้วยความขัดแย้ง ทั้งในเรื่องเวทีการเมืองที่รัฐใช้อำนาจไม่ชอบธรรมสลายการชุมนุม และกรณี 3 จชต. ชี้จุดพลาดการเยียวยาที่เร็วไปโดยข้อเท็จจริงยังไม่กระจ่างเป็นอันตรายต่อสังคม และดึงความสนใจออกจากการหารากเหง้าของปัญหา
วันนี้ (6 ก.ย.) ที่หอประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ จัดประชุมวิชาการนานาชาติรัฐศาสตร์ ระหว่างวันที่ 6-7 กันยายนนี้ เพื่อหาสาเหตุของปัญหาและทางออกของการบริหารท้องถิ่น โดยความร่วมมือระหว่างสถาบันสันติศึกษา ม.อ. ร่วมกับสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เป็นต้น
โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวเปิดประชุมอย่างเป็นทางการ ว่า การประชุมวิชาการนานาชาติ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และสันติศึกษาในบริบทอาเซียนในหัวข้อ “ประชาสังคม การเมือง และการพัฒนาประเทศในประเทศสมาชิกอาเซียน” ครั้งนี้ หวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่สังคมกำลังมองหา ซึ่งจะนำไปสู่การปฎิบัติในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้น โดยจะเป็นเวทีของการอธิบายปัญหา ปรากฎการณ์ ความคิดเห็น และเปลี่ยนข้อเสนอแนะ และรวบรวมเป็นความรู้ต่อไป
ด้าน ศ.ดร.ดันแคน แมคคาร์โก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยลีดส์ ประเทศอังกฤษ ได้ปาฐกถานำเรื่อง “การปรองดอง/ประสานงาน : สะพานเชื่อมการแบ่งแยกประเทศไทย?” โดยกล่าวถึงสถานการณ์ความแตกแยกทางการเมืองของประเทศไทย ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากการลุกขึ้นชุมนุมประท้วงของประชาชน และนำไปสู่การใช้อำนาจในการปราบปราม เข่นฆ่า เสียชีวิตกันอย่างไม่เลือกฝ่าย
กระทั่งสถานการณ์ล่าสุด ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณ นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กระทั่งเกิดกลุ่มอีกสีเสื้อที่ปกป้อง สนับสนุนพรรคการเมือง และสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยระหว่างที่มีการชุมนุมของแต่ละฝ่ายนั้น นำมาซึ่งการใช้อำนาจของรัฐเพื่อสลายการชุมนุม บาดเจ็บ เสียชีวิตอย่างไม่เลือกฝ่าย ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองนำไปสู่ความตึงเครียด และอยู่ในภาวะที่ถูกปกปิด บิดเบือนความจริง ไม่ว่าจะกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ หรือ นปช.ก็ตาม
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ความขัดแย้ง ไม่ว่าจะทางการเมืองส่วนกลาง หรือความขัดแย้งใน 3 จชต.นั้น จากเดิมมีการหาแนวทางออกโดยใช้คำว่า “สมานฉันท์” เพื่อหาทางออกให้แก่กรณี 3 จชต. แต่กรณีความขัดแย้งทางการเมืองนั้นกลับใช้คำว่า “ปรองดอง” ซึ่งมีความแตกต่างกันในความหมาย และนัย เพราะการสมานฉันท์นั้นจะยอมรับที่จะไม่พูดคุยในบางประเด็น และต้องยอมรับว่า รัฐบาลไทยนั้นขาดความชอบธรรมในทางอำนาจอยู่เช่นกัน ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการไม่เชื่อ และยอมรับในอัตลักษณ์ที่แตกต่างของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ
อย่างไรก็ตาม การตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อแนวทางปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โดยมีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น มีหน้าที่หลัก 3 ประการ คือ 1.การแสวงหาความจริงดูสาเหตุของความขัดแย้ง 2.หาวิธีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 2.ลดความขัดแย้งในสังคม
ทว่า รศ.ดร.ดันแคนให้ข้อสังเกตว่า แม้คณะกรรมการชุดนี้จะเป็นอีกหนึ่งชุดที่ดีที่สุดก็ตาม เมื่อขั้วทางการเมืองเปลี่ยนไป ซึ่งต้องจับตาเฝ้าดูว่าภายใต้บริบททางการเมืองของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีนั้น คอป.สามารถทำงานตอบสนองตามหน้าที่หลักได้ทั้ง 3 ประการหรือไม่ เพราะดูเหมือนวิธีการแก้ปัญหานั้นเป็นอุดมการณ์เกินไป จึงไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองได้จริง ทำให้ยังมีบางคนสร้างปัญหาให้แก่ประเทศมากมายได้อีก
ทั้งนี้ เพราะปัญหานั้นคือ การกำหนดนิยามของ “ความจริง” เพื่อหาข้อเท็จจริงนั้น จะมีส่วนสำคัญที่เชื่อมโยงกับคำว่า “ปรองดอง” ทั้ง 2 คำจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความสมดุลจึงจะทำงานได้กันได้นั่นเอง แต่ต้องถามต่อว่า สังคมไทยยอมรับความจริงได้เพียงใด แค่ยอมรับว่ามีการฆ่ากันตายเกิดขึ้นสังคมก็เจ็บปวดแล้ว หากต้องชี้ชัดระบุตัวมือฆ่า คนสั่ง หรือเป็นฝีมือของฝ่ายใดแล้วผลจะเป็นอย่างไร และต้องถามต่อว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้ต้องลืมความจริงบางส่วนไปบ้างได้หรือไม่
รศ.ดร.ดันแคน กล่าวยอมรับว่า ที่ผ่านมาก็เห็นความตั้งใจของ คอป.ที่ให้ความสำคัญของการทำงานท่ามกลางความยากลำบาก เพราะแม้แต่ในคณะกรรมการเองก็ชอบ และไม่ชอบทักษิณ แต่ก็ได้หยิบยกความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมาใช้ เพื่อให้สังคมได้เดินหน้า และไม่กลับไปซ้ำรอยใช้ความรุนแรงอีก อีกหนึ่งปัญหาคือโครงสร้างทางการเมืองนั้น ยังมีคนเพียงเล็กน้อยที่บิดเบือน และเป็นตัวสร้างปัญหา ดังนั้น จึงต้องจัดการให้ได้ แม้ว่าวิธีการนั้นจะเลือนรางทั้งในแง่กฎหมาย และศีลธรรมก็ตาม
และจากการได้พูดคุยกับกรรมการของ คอป.ถึงแนวความคิดเรื่องคนดี-คนเลว ซึ่งมีส่วนในการสร้างปัญหาให้แก่ประเทศนั้น ชี้ว่าเรื่องคนนั้นไม่ใช่ทางออกของปัญหาแน่นอน เพราะไม่ว่าที่ไหนก็มีคน 2 ประเภทนี้อยู่ แต่ต้องแก้ที่ระบบมากกว่า
สุดท้าย รศ.ดร.ดันแคน ได้สรุปถึงบทบาทและผลงานของ คอป.ซึ่งดำเนินงานในเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบของความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้วรายละ 7.5 ล้านบาท เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านมายังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็กลายเป็นการฉวยโอกาสดึงความสนใจจากประชาชนที่ตัวเงินมากกว่าการดูสาเหตุของปัญหา เพราะการอนุมัติเกิดขึ้นรวดเร็ว ทำให้การแก้ปัญหาได้เพียงผิวเผิน
และหลังจากที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ได้นำเสนอร่างกฎหมายปรองดองเข้าสภาฯ นั้น ทำให้เกิดความต่อต้านอย่างวุ่นวายภายในสภา แต่ร่าง พ.ร.บ.เหล่านั้นก็ไม่ได้สูญหายไป เพียงแต่รอเวลาที่เหมาะสมเพื่อปัดฝุ่นขึ้นมาใหม่เท่านั้นเอง และในขณะนี้ ประชาชนก็ตั้งตารอคอยว่าสิ่งที่ คอป.นำเสนอข้อเท็จจริงนั้นจะออกมาเป็นเช่นไร และรายงานที่ออกมาจะมีตรงกับรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และสถาบันพระปกเกล้าทำมามากน้อยแค่ไหน