ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ตัวแทนจากกรมปศุสัตว์ และภาคเอกชนในประเทศอินโดนีเซีย ลงพื้นที่เยี่ยมชมฟาร์มนกเขาชวาในพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.ปัตตานี เตรียมพร้อมกลับมาส่งออกนกเขาชวาจากไทย ซึ่งจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกมหาศาล และสามารถเชื่อมโยงทั้งเศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรม และด้านการท่องเที่ยว
วันนี้ (29 ส.ค.) น.ส.โศภิษฐ์ ธัญลักษณากุล ปศุสัตว์เขต 9 นำตัวแทนจากกรมปศุสัตว์ และภาคเอกชนในประเทศอินโดนีเซีย ลงพื้นที่เยี่ยมชมฟาร์มนกเขาชวาในพื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา รวมทั้ง จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นฟาร์มที่มีชื่อเสียง และได้รับการยอมรับในการจัดการฟาร์มที่ดีในวงการผู้เลี้ยงนกเขาชวาทั้งชาวไทย และต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศอินโดนีเซียในเรื่องของระบบการบริหารจัดการฟาร์มนกเขาชวาของไทย
โดยเฉพาะการควบคุมโรคไข้หวัดนก นำไปสู่การประสานความร่วมมือในการรื้อฟื้นการส่งออกนกเขาชวาเสียงของไทยไปยังประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดรองรับที่สำคัญอีกครั้ง หลังจากที่ต้องหยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2547 หลังจากที่ไทย และกลุ่มประเทศในเอเชียเกิดปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนก และจะเป็นอีกหนึ่งในสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ในการส่งออกของไทยที่มีมูลค่ามหาศาล
น.ส.โศภิษฐ์ ธัญลักษณากุล ปศุสัตว์เขต 9 เปิดเผยว่า ทางตัวแทนปศุสัตว์และภาคเอกชนประเทศอินโดนีเซียพอใจในการพัฒนาฟาร์มนกเขาชวาของไทยให้มีมาตรฐาน และการเฝ้าระวังในเรื่องของโรคไข้หวัดนก โดยหลังจากนี้ ทางกรมปศุสัตว์จะเร่งดำเนินการจัดอบรมเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เลี้ยงนกเขาในเรื่องของระบบการจัดการฟาร์ม การเลี้ยง และการควบคุมโรคให้เป็นมาตรฐาน และทางกรมปศุสัตว์จะออกหนังสือรับรองให้แก่เจ้าของฟาร์มเพื่อยันยันว่าอยู่ภายใต้ระบบการจัดการฟาร์มสัตว์ปีกที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีมาตรการควบคุมโรค และการเฝ้าระวังโรคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นใบเบิกทาง และช่วยสร้างความมั่นใจในการส่งออกสัตว์ปีกให้แก่ประเทศคู่ค้า และกลับมารื้อฟื้นธุรกิจการส่งออกนกเขาชวาของไทยให้กลับมาเหมือนเดิม
โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดนกเขาชวาที่สำคัญของไทย โดยคาดว่าภายในต้นปีหน้าจะสามารถกลับมาส่งออกนกเขาชวาได้อีกครั้ง ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างตกลงเงื่อนไขการส่งออกกับประเทศอินโดนีเซีย
น.ส.โศภิษฐ์ ยังระบุอีกว่า การเลี้ยงนกเขาชวามีการพัฒนาเป็นอาชีพให้เป็นเอกลักษณ์ที่นำรายได้ให้แก่ชุมชนชายแดนภาคใต้ และส่งผลดีต่อการสร้างอาชีพอื่นๆ ในภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรร มและการท่องเที่ยว เช่น การทำกรงนก ผ้าคลุมกรงนก ผลิตอาหารนก การแข่งขันนกเขาชวา และจากชื่อเสียงของนกเขาชวาของไทย ชาวต่างประเทศจึงนิยม และยอมรับนกเขาชวาของไทย โดยมีประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นตลาดรองรับที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย นกเขาชวายังเป็นสินค้าที่มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้เลี้ยงในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีการหมุนเวียนของเงินตราที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชนจำนวนมหาศาล
แต่จากปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกในแถบเอเชียอาคเนย์ใน 2547 ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก และผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกเพื่อการนำเข้า และส่งออกประสบกับอุปสรรค เพราะโรคไข้หวัดนกกลายเป็นข้อกีดกันทางการค้า กระทบโดยตรงต่อวงการนกเขาชวาเสียง ทำให้การส่งออกนกเขาชวาต้องหยุดชะงักลง เป็นผลให้อาชีพการเลี้ยงนกเขาชวา และอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบตามมาด้วย แต่หลังจากที่ไทยสามารถควบคุมโรคไข้หวัดนกได้อย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ปี 2551 จนถึงขณะนี้ เชื่อว่าการส่งออกนกเขาชวาของไทยจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง