ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - จังหวัดสงขลา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับมุขมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 2 (The Second Chief Minister’s and Governors’ Forum (CMGF) Retreat) ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือของ IMT-GT และฝ่ายไทยใช้โอกาสนี้ชี้แจงความคืบหน้าในการพัฒนาโครงการต่างๆ รองรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ
จังหวัดสงขลา ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับมุขมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 2 (The Second Chief Minister’s and Governors’ Forum (CMGF) Retreat) ตามกรอบแผนงาน แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) ระหว่างวันที่ 3-4 กรกฎาคม 2555 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติฉลองศิริราชสมบัติครบ 60 ปีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
โดยจัดการประชุมระดับมุขมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ มี นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย และมีผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้แทนของ 14 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ผู้แทนจาก 10 จังหวัดบนเกาะสุมาตราเหนือ และผู้แทนมุขมนตรีจาก 8 รัฐ ของประเทศมาเลเซีย พร้อมทั้งผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐ และเอกชนของทั้งสามประเทศ เข้าร่วมกว่า 200 คน
ทั้งนี้ สาระสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ คือ ผู้แทนของทั้งสามประเทศได้รายงานประเด็นความก้าวหน้าเกี่ยวกับโครงการความร่วมมือที่สามฝ่ายได้นำเสนอในการประชุมครั้งแรก โดยครอบคลุมถึงโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐและจังหวัด (inter-state/provincials’ regional cooperation projects) การดำเนินการตามข้อเสนอของสภาธุรกิจ IMT-GT และการปรับรูปแบบการดำเนินการในอนาคตของ CMGF มุขมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัดประเทศ IMT-GT ได้รับรองแผนดำเนินการระยะห้าปี (Implementation Blueprint: IB) ระหว่างปี 2555-2559 ตามที่ผู้แทนหัวหน้ารัฐมนตรีแผนงาน IMT-GT รายงาน
ที่ประชุมระดับประชุมระดับมุขมนตรี และผู้ว่าราชการจังหวัด ได้เน้นย้ำถึงประเด็นแรก บทบาทหน้าที่ของรัฐ และจังหวัดในการเร่งรัดและส่งเสริมการค้าการลงทุนและธุรกิจในอนุภูมิภาค IMT-GT และประเด็นที่สอง การเตรียมความพร้อมของประเทศในกลุ่ม IMT-GT เพื่อเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ในโลก โดยบูรณาการแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน โดยฝ่ายไทยได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้แก่
1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยง เช่น การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสกับรัฐกลันตัน และสะพานแห่งที่สองที่อำเภอสุไหงโก-ลกกับรัฐกลันตัน, การเร่งรัดศึกษาความเป็นไปได้ทางพิเศษหาดใหญ่-สะเดา เชื่อมโยงกับทางหลวงเหนือ-ใต้ของมาเลเซีย, การเร่งรัดพัฒนาด่านชายแดนที่สะเดา-บูกิตกายูฮิตัม และด่านชายแดนบ้านประกอบ-ดูเรียนบุหรง รวมทั้งการบูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนร่วมกันโดยพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดนนราธิวาสเชื่อมโยงกับรัฐกลันตัน และเขตเศรษฐกิจชายแดนสะเดา-บูกิตกายูฮิตัม และมีการรายงานความก้าวหน้าในการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ที่จะเชื่อมโยงไปสู่พัฒนาท่าเรือด้านอันดามัน ที่นาเกลือ จังหวัดตรัง และท่าเรืออื่นที่มีความพร้อมต่อไป เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งชายฝั่งกับมาเลเซีย และสุมาตราของอินโดนีเซีย
2) ความร่วมมือในการอำนวยความสะดวกในการผ่านแดน 3) การนำเสนอแนวคิดการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางสถาปัตยกรรม “เมืองเก่าสงขลา” เพื่อเชื่อมโยงกับเมืองเก่าชิโนโปรตุกีสหลักในอนุภูมิภาค IMT-GT ได้แก่ มะละกา ปีนัง และภูเก็ต และ 4) ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์/ลอจิสติกส์ฮาลาล และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ฮาลาล
ทั้งนี้ ทางจังหวัดสงขลาได้เสนอให้ที่ประชุมรับทราบถึงปัญหาในการส่งออกนกเขาชวา ซึ่งเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมของภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากไข้หวัดนก และขอให้ที่ประชุมร่วมกันหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพื่อให้การส่งออกนกเขาชวากลับมาคึกคักอีกครั้ง ฝ่ายมาเลเซียได้ใช้โอกาสนี้ในการนำเสนอ
1) ความร่วมมือสีเขียว โดยมุ่งเน้นความร่วมมือกันในการสร้างเมืองต้นแบบสีเขียว (MELAKA, SONGKHLA AND MEDAN AS MODEL GREEN CITY FOR IMT-GT) 2) โครงการก่อสร้างถนนเลียบชายฝั่งทะเลจาก Tok Bali ไปยัง Pengkalan Kubur 3) การยกระดับสนามบิน Sultan Ismail จากสนามบินภายในประเทศเป็นสนามบินนานาชาติ และ 4) การพัฒนาระบบระบายน้ำเสียในรัฐกลันตัน
ในส่วนของภาคเอกชน นำโดยสภาธุรกิจ รายงานความการหน้าในความร่วมมือในการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวที่มีความเป็นเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรม เช่น การท่องเที่ยวตามรอยหลวงปู่ทวด อินโดนีเซียยังได้เสนอโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเกาะ Sabang ในจังหวัดอาเจะห์ นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอการลงทุนของภาคเอกชนไทยในอินโดนีเซีย โดยบริษัทศรีตรัง ทั้งนี้ ที่ประชุมมีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับปัญหารถตู้โดยสารจากประเทศไทยไปมาเลเซีย นับได้ว่า การเปิดเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศครั้งนี้ เป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความคึกคัก และกระตุ้นความสนใจของผู้คนในพื้นที่ IMT-GT สู่การเตรียมความพร้อมและสร้างความก้าวหน้าในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาค และก้าวสู่อาเซียนในปี 2558 ต่อไป