xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรับฎีกาถอนคำสั่งคดีตากใบ ญาติร้องไม่ระบุพฤติกรรมการตาย ปิดทางเอาผิดเจ้าหน้าที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศาลอาญารับฎีกาถอนคำสั่งคดีตากใบ ญาติใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ร้องคำสั่งศาลสงขลาไม่เป็นธรรม ชี้ตายเพราะขาดอากาศหายใจ แต่ไม่ระบุพฤติกรรมถูกมัดมือไขว้หลังให้นอนทับบนรถ ปิดทางเอาผิดเจ้าหน้าที่ ขณะที่ศาลปัตตานีสืบพยานลับปากสุดท้าย ไขปริศนาการตาย ‘สุไลมาน แนซา’

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า ศาลอาญามีคำสั่งรับฎีกาคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตาย กรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมพื้นที่อำเภอตากใบ ของศาลจังหวัดสงขลา เนื่องจากเห็นว่า เป็นคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และขอให้ส่งฎีกาให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อไปแล้ว

ทั้งนี้ ทนายความของญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปี 2547 จำนวน 34 คน ได้ยื่นฎีกาดังกล่าวต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมา

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งว่า การยื่นฎีกาดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิทางศาลได้โดยตรง หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลอาญาที่ไม่รับคดีไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2555 เนื่องจากเห็นว่า ศาลจังหวัดสงขลารับคดีไว้ และทำการพิจารณาพิพากษาไปแล้ว ศาลอาญาจึงไม่อาจรับคดีไว้พิจารณาอีก เป็นการต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งด้วยว่า คดีนี้ สืบเนื่องจากญาติผู้ตายทั้ง 34 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งไต่สวนการตายกรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบของศาลจังหวัดสงขลา ศาลอาญามีคำสั่งไม่รับคำร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นญาติผู้ตายทั้ง 34 คน จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลอาญา

“ผู้ร้องจึงได้ยื่นฎีกา โดยให้เหตุผลว่า คำร้องของผู้ร้อง มีวัตถุประสงค์ว่าคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลานั้นไม่ถูกต้องเป็นธรรม ขัด หรือแย้งกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว การยื่นคำร้องของผู้ร้องในคดีนี้ ไม่ใช่คดีที่ศาลจังหวัดสงขลารับไว้พิจารณาแล้ว ซึ่งต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15” มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งอีกว่า เมื่อไม่มีศาลใดมีเขตอำนาจเฉพาะ จึงต้องยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป คือ ศาลอาญา เพราะศาลอาญามีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงได้ทั่วราชอาณาจักร

 
สำหรับคดีนี้ มีการโอนให้ศาลจังหวัดสงขลาพิจารณา ซึ่งคำสั่งไต่สวนการตายของศาลจังหวัดสงขลา กรณีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมอำเภอตากใบ ในคดีหมายเลขดำที่ ช.16/2548 คดีหมายเลขแดงที่ ช.8 /2552 ระบุว่า ผู้ตายทั้งหมดเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ โดยไม่กล่าวถึงเหตุ และพฤติการณ์ที่ตาย

“กล่าวคือ ไม่ระบุข้อเท็จจริงเรื่องที่ผู้ถูกควบคุมตัวจำนวน 78 คน ที่เสียชีวิต ถูกบังคับให้ถอดเสื้อ และมัดมือไขว้หลัง บังคับให้นอนคว่ำหน้ากับพื้นรถยนต์บรรทุกทับซ้อนกันเป็นชั้น ประมาณ 4-5 ชั้น และไม่ระบุชื่อบุคคลผู้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่ง และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งเป็นผู้สั่งการ หรือกระทำการอันเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย”

“จากคำให้การของประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุจำนวนมาก และพยานหลักฐานต่างๆ ในสำนวนได้ปรากฏข้อเท็จจริงทั้งหมดอย่างชัดแจ้ง รวมตลอดถึงข้อเท็จจริงสำคัญอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมผู้ร่วมชุมนุม และนำตัวไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกควบคุมตัวแต่อย่างใด”

“คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาย่อมกระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพในชีวิต และร่างกายของผู้ตาย และญาติผู้ตาย ซึ่งได้รับการรับร้องไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขัดกับบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 และบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงสมควรถูกเพิกถอน และมีคำสั่งใหม่ที่เป็นธรรม”

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุด้วยว่า ในตอนท้ายของฎีกา ผู้ร้องได้ระบุด้วยว่า คำสั่งของศาลจังหวัดสงขลาที่ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่ต้องรับผิดในการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและสิทธิมนุษยชนแต่ประการใด และอาจเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยการปฏิบัติที่ทารุณ โหดร้าย และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้อีกซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 
 
 
สืบพยานลับปากสุดท้าย ไขปริศนาการตาย ‘สุไลมาน แนซา’

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 ศาลจังหวัดปัตตานีไต่สวนพยานคดีชันสูตรพลิกศพ (ไต่สวนการตาย) ของนายสุไลมาน แนซา ซึ่งเสียชีวิตตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2553 ในสภาพศพแขวนคอด้วยผ้าขนหนูมัดกับกรงเหล็กดัดหน้าต่างในห้องควบคุมตัวของศูนย์เสริมสร้างสมานฉันท์ (ศสฉ.) ในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี เป็นวันสุดท้าย ก่อนจะนัดฟังคำสั่งคดีชันสูตรพลิกศพในเวลา 13.30 น. วันที่ 20 กันยายน 2555

ในระหว่างการไต่สวน พยานปากหนึ่งซึ่งเป็นผู้ถูกควบคุมตัวในสถานที่ และช่วงเวลาเดียวกับนายสุไลมาน เกรงว่า คำเบิกความบางส่วนอาจส่งผลต่อความปลอดภัยของตัวเอง เพราะปัจจุบัน ยังมีเจ้าหน้าที่มาถามหาอยู่เป็นประจำ จึงกลัว และไม่สะดวกใจที่จะเบิกความ จึงขอศาลให้สืบพยานโดยลับ ศาลจึงสอบถามพนักงานอัยการแล้วไม่คัดค้าน จึงมีคำสั่งให้ไต่สวนพยานปากดังกล่าวเป็นการลับ โดยให้บุคคลที่ไม่ใช่คู่ความในคดีออกจากห้องพิจารณาคดีทั้งหมด

คดีนี้ พนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอให้ชันสูตรพลิกศพต่อศาลจังหวัดปัตตานีเมื่อ วันที่ 21 ธันวาคม 2553 ต่อมา นายเจะแว แนซา บิดาของนายสุไลมาน ผู้ตาย ได้ยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อให้ทนายความได้ทำการซักค้านพยานผู้ร้อง และนำพยานฝ่ายตนเข้าทำการไต่สวน เพราะเชื่อว่า นายสุไลมานไม่ได้เสียชีวิตโดยการผูกคอตายด้วยตนเอง

การไต่สวนคดีนี้ ใช้เวลานานเกือบ 2 ปี และเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน ทั้งฝ่ายอัยการ และฝ่ายญาติได้นำพยานเข้าทำการไต่สวนอย่างเต็มที่ โดยการสืบพยานครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2555 เป็นการไต่สวนพยานฝ่ายผู้ร้อง 1 ปาก วันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ไต่สวนอีก 1 ปาก และในวันที่ 19 กรกฎาคม 2555 ไต่สวนพยานฝ่ายผู้คัดค้านอีก 3 ปาก หนึ่งในนั้นใช้วิธีไต่สวนลับ

อนึ่ง บิดามารดานายสุไลมานเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม และกองทัพบก ต่อศาลจังหวัดปัตตานีไว้แล้ว ศาลกำหนดนัดเริ่มสืบพยานในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2555

ฮัสซัน โตะดง
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
กำลังโหลดความคิดเห็น